ในระหว่างวันที่ 6-11 กันยายนนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีเอ็ม และการประชุมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของคู่เจรจาอาเซียน ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อพิจารณาและผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยจะเร่งรัดการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) ระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ การลดภาษีสินค้า ซึ่งอาเซียนเสนอให้ลดภาษีสินค้าร้อยละ 92 ของรายการสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ อินเดียที่มีความพร้อมด้านบริการ ต้องการให้อาเซียนเปิดเสรีบริการมากขึ้น
ส่วนเรื่องการส่งออก น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2560 จะเติบโตที่ร้อยละ 5 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ, ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น และอาเซียน ซึ่งไทยมีสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่วนปัจจัยลบก็คืออัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าซึ่งในเดือนสิงหาคมแข็งค่าที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ภาครัฐควรกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และต้องกำหนดรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการ เร่งยกระดับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเป็นต้น
ด้าน นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีในไตรมาส 2 ปี 2560 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,560,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.9 มาจากการขยายตัวในภาคการค้าและภาคบริการเป็นหลัก จากภาคท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว จึงคาดว่าจีดีพีเอสเอ็มอีจะเติบโตได้ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีตามที่ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 5
ส่วนภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2 ปีนี้ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ผู้ว่างงาน 470,000 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ที่อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนทรงตัวเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สูงขึ้นร้อยละ 24.1 เพราะเป็นช่วงจบการศึกษาและแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 39 มักจะไม่ตัดสินใจทำงานทันที แต่จะรอดูหลังจากเรียนจบ 2-3 ไตรมาสก่อนสมัครงาน และเลือกงานมากขึ้น อีกส่วนเป็นเพราะคุณสมบัติของแรงงานและวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งนายปรเมธีอธิบายว่า ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จบระดับอุดมศึกษาซึ่งไม่เคยทำงานมาก่อน จะใช้เวลาหางานมากกว่าเดิม นอกจากนี้ นายจ้าง ตลาดแรงงานมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานในหลายส่วน ทำให้การจ้างงานบางประเภทลดลงหรือไม่จ้างงาน ส่งผลให้การจ้างงานโดยรวมลดลง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า ไตรมาสแรกปีนี้ กลุ่มคนเจนวาย หรืออายุ 22-35 ปี จำนวน 5,240,000 คน มีหนี้รวมกัน 2,130,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 29 ปี มีหนี้สินต่อคนอยู่ที่ 150,000 บาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 เป็นหนี้เสีย เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามการเติบโตของสังคมเมือง ส่งผลให้มีพฤติกรรมใช้ง่าย จ่ายคล่อง ตัดสินใจเร็ว และยังเข้าถึงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้ง่าย
นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคมคือ 6,220,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.83 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 39,491 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 4,803,543 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 967,658 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 438,271 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 15,514 ล้านบาท
ในวันนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จะมีการประชุมโดยมีประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาเรื่องภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์ค่าเงินบาท และผลกระทบจากสถานการณ์โลก
ส่วนเรื่องหนี้สินเกษตรกร เมื่อวานนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร หรือ กฟก.(ชุดเฉพาะกิจ) ครั้งที่ 3 ในกรอบเวลาดำเนินการแก้ไขหนี้เกษตรกรภายใน 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ซึ่งได้ปรับลดหลักเกณฑ์กติกาการช่วยเหลือซื้อหนี้กับเกษตรกรจากเจ้าหนี้เดิมจาก 56 ข้อเหลือ 36 ข้อ พร้อมจัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือ 4 ระดับ คือ หนี้ถูกฟ้องล้มละลาย หนี้ถูกบังคับคดีหรือประกาศขายทอดตลาด หนี้ถูกดำเนินคดี และหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โดยในกลุ่มที่ขอรับความช่วยเหลือ ผลการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่า มีข้อมูลครบถ้วน 64,748 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบ โดยเป็นผู้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรยินยอมชำระหนี้แทนเกษตรกร 871 ราย จาก 2,369 สัญญา มูลหนี้ประมาณ 166 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรซึ่งมีหนี้สินและมาขึ้นทะเบียนกับกฟก. มีจำนวน 512,000 ราย รวม 6,460,000 ล้านบัญชี มูลหนี้ 84,700 ล้านบาท
ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวานนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) หารือร่วมกับ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ, พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.สปพ.) อดีตผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ผบก.ทท.) หัวหน้าชุดคดีปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ กรณีที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์แถลงว่า คดีนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่ ส่วนการลงนามคำสั่งย้าย ผกก.สน.พญาไท เป็นเรื่องการบริหารภายในของ ผบก.น.1 ซึ่งเมื่อเรียบร้อยจะส่งกลับต้นสังกัดเดิม คาดว่าจะเป็นวันที่ 11 กันยายนนี้
นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะพาเหยื่อที่ถูกหลอกให้แต่งงานกับ น.ส.จริยาภรณ์ บัวใหญ่ กว่า 10 ราย แล้วเชิดสินสอดหลบหนี เข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบ ที่ กองบังคับการปราบปราม ถ.พหลโยธิน
...