กปร.:องคมนตีรลงพื้นที่ เขื่อนขุนด่านปราการชล หลังชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

04 กันยายน 2560, 14:30น.


การติดตามความก้าวหน้าโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ เข้ารับฟังการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล และเยี่ยมชมเขื่อนฯ



นายจรัลธาดา เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชปณิธาน และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะต่อยอดโครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ยังไม่เสร็จสิ้นและยังสมบูรณ์ ส่วนการตรวจเยี่ยมเขื่อนขุนด่านปราการชลในวันนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ของจังหวัดนครนายก เป็นโครงการที่สำคัญของภาคกลาง และรับฟังแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล เนื่องจากอาทิตย์ที่แล้วมีข่าวว่าน้ำท่วมในจังหวัดนครนายก ในช่วงเวลาสั้นๆ จึงมาติดตามว่ามีข้อบกพร่อง มีสาเหตุมาจากอะไร หลังจากหารือกับกรมชลประทาน พบว่าน้ำที่ท่วมเป็นน้ำจากเขาใหญ่ที่หลากมาโดยตรง ในพื้นที่ที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ไม่ใช่ผลกระทบที่มาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล





นายจรัลธาดา ระบุว่า จากการหารือยังพบว่าพื้นที่คลองบ้านนา คลองสีเสียด ประชาชนยังไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากเขื่อนขุนด่านปราการชล จึงจะดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการทำท่อส่งน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชลไปยังพื้นที่คลองสีเสียดด้วย เนื่องจากในช่วงหน้าแล้งน้ำมีไม่เพียงพอ และจะวางแผนบริหารจัดการไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่คลองบ้านนา



ทั้งนี้เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นเขื่อนที่มีประโยชน์ และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภค บริโภค ทำน้ำปะปาน้ำเพื่อการเกษตร ผลักดันน้ำเค็ม แก้ปัญหาดินเปรี้ยว โดยการปล่อยน้ำชำระล้างหน้าดินควบคู่กับการใช้ปูนขาว เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ อนุรักษ์สัตว์น้ำ ผลิตกระแสไฟฟ้า กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ว และป้องกันปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน



โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (RCC DAM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 93 เมตร ยาว 2,594 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2548 มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 185,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โครงการท่าด่านเดิมและส่วนขยาย จำนวน 20,000 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำ (ฝั่งซ้าย) ความยาว 41.44 กิโลเมตร และคลองระบายน้ำ ความยาว 22.41 กิโลเมตร รวมทั้งอาคารบังคับน้ำในคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ จำนวน 260 แห่ง และพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จำนวน 165,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 78 หมู่บ้าน 6,787 ครัวเรือน



ปัจจุบัน ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2560 เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55





ด้านการรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม มีแผนการระบายน้ำประมาณเดือนละ 3.0 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือการเกษตรในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำนครนายก และระบายน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและชะล้างดินเปรี้ยว ส่วนปริมาณน้ำอีกประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้ามาทางแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายกให้ไหลกลับไปแม่น้ำบางปะกง เพื่อไหลลงสู่ทะเล และยังพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำใต้ดินบนพื้นที่การเกษตร จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่อำเภอองครักษ์ และอำเภอเมืองบางส่วน และนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและประมงที่สำคัญของจังหวัดนครนายก





ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ได้มีการปล่อยสัตว์น้ำไปแล้วมากกว่า 20 ล้านตัว มีพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ และกุ้งก้ามกราม เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเทียวที่สำคัญของจังหวัดนครนายกอีกด้วย เห็นได้จากประชาชนให้ความสนใจมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ทำให้ราษฎรได้มีแนวทางในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้นนอกจากภาคเกษตร คือการทำประมง และการท่องเที่ยว มีรายได้ที่สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

ข่าวทั้งหมด

X