การเสวนา ในหัวข้อปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา116 น้อย แต่หลังการรัฐประหารมีคดีในความผิด มาตรา 116 เพิ่มขึ้นมากโดยมีบุคคลอย่างน้อย 66 คนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร คดีวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ คดีที่พูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรี คดีเกี่ยวกับการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ คดีประชดประชัน รวมทั้งการปล่อยข่าวลือในสังคมออนไลน์ ซึ่งนายสุณัยอ้างถึงนานาชาติที่มองว่า การใช้ มาตรา 116 เป็นเครื่องมือปิดกั้นความเห็นต่าง สร้างความหวาดกลัว และเป็นเครื่องมือในการพิจารณาคดีที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล ทำให้นายสุณัย มองว่า การใช้มาตรา 116 ตามอำเภอใจ จะยิ่งทำให้ไม่เห็นความหวังว่าประเทศไทย จะไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) อธิบายว่า มาตรา 116 เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่เสนอความคิดเห็น หรือเห็นค้าน คสช. ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด นอกจากนี้ มาตรา116 ยังมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2499 และมีการบังคับใช้ โดยในช่วงก่อนปี 2557 ก็มีการบังคับใช้มาตรา 116 เช่นกัน
ทั้งนี้มาตรา 116 มี 2 ลักษณะคือความมั่นคงของประเทศ เพื่อปกป้องประเทศ และลักษณะถูกนำมาใช้ทางการเมืองเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่วนที่มองว่า มาตรา 116 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อนั้น นาย เสรี ไม่เห็นด้วย เพราะในทางคดีไม่มีผลที่ชัดเจนและคิดว่า การวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอความเห็นทางการเมืองตามวิถีของการเมืองโดยทั่วไปก็ไม่ได้ถูกลงโทษ นอกจากนี้ ในปัจจุบันการใช้มาตรา 116 ก็เริ่มจะเบาลงแล้ว
...
ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม