จำนวนชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อพยพข้ามพรมแดนจากรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมาไปยังบังคลาเทศหลังจากเหตุรุนแรงตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60,000 คนแล้ว ส่งผลให้บรรดาหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ของบังคลาเทศที่รับผู้อพยพชาวโรฮิงญาไว้ก่อนหน้านี้แล้วเป็นจำนวนมากกำลังเผชิญกับความยากลำบากกับการจัดการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพทั้งเก่าและใหม่
แหล่งข่าวจากองค์การสหประชาชาติประจำบังคลาเทศระบุว่า ขณะนี้ตามศูนย์อพยพต่างๆ ในบังคลาเทศกำลังขาดแคลนสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวนมาก ทั้งเต๊นท์พักอาศัย อาหาร และน้ำสะอาด เนื่องจากจำนวนผู้อพยพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังพบปัญหาเรื่องการระบุตัวผู้อพยพที่เข้าไปใหม่ด้วย สำหรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่เข้าไปใหม่นี้เป็นเด็กมากถึง 16,000 คน ในจำนวนนี้อายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มากกว่า 5,000 คน เด็กๆ ส่วนใหญ่ยังมีภาวะหิวโหย บางรายมาในสภาพที่พลัดพรากจากครอบครัว จึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยบริการด้านการศึกษาที่จัดไว้สำหรับเด็กๆ ที่อพยพนี้สามารถให้บริการแก่เด็กได้เพียง 5,000 คนเท่านั้น จากจำนวนเด็กที่มีในปัจจุบันคาดว่าต้องมีการจัดตั้งโรงเรียนอีกมากกว่า 500 แห่งจึงจะครอบคลุมจำนวนเด็กทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็มีความวิตกถึงสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การทารุณกรรมเด็ก การใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กด้วย ส่วนสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในกลุ่มผู้อพยพที่ไม่ได้มาตรฐานก็กำลังทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีมีครรภ์ เด็ก และคนชรา นอกจากนั้นยังพบว่ามีผู้อพยพอีกกว่า 10,000 คนที่ติดค้างอยู่บริเวณพรมแดนของเมียนมากับบังคลาเทศ หลังจากอพยพจากรัฐยะไข่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไว้ให้บริการ
**9.20F174**