นายปิแอร์ เปรอน โฆษกสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ OCHA แถลงว่า มีผู้พลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในค่ายต่างๆ ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา จำนวนประมาณ 120,000 คน ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารหรือการบริการสาธารณสุขในเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา หลังจากสหประชาชาติและกลุ่มองค์กรให้ความช่วยเหลือระงับการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านดังกล่าว เนื่องจาก ถูกรัฐบาลเมียนมา กล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในรัฐยะไข่ โดยสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพขนมปังของโครงการอาหารโลก หรือ WFP ซึ่งพบที่ค่ายต้องสงสัยแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 ก.ค. พร้อมกับระบุว่า จะสอบสวนกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมาที่ทำงานให้กับ WFP ปฏิเสธการจัดส่งอาหารไปยังค่ายต่างๆ ในเมืองสิตตะเวและที่อื่นๆ ขณะที่แหล่งข่าวของสหประชาชาติ รายงานว่า เจ้าหน้าที่และกลุ่มองค์กรช่วยเหลือนานาชาติ ซึ่งเดิมเปิดให้บริการคลินิกภายในค่ายต่างๆ ได้แสดงความวิตกกังวลต่อความไม่ปลอดภัยในการทำงาน จึงได้ปิดให้บริการคลินิกต่างๆ จึงเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาต้องถูกจำกัดสิทธิมากขึ้น
นอกจากข้อจำกัดในการเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว นอกจากนี้ สุขอนามัยก็กลายเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากผู้รับเหมาก็ปฏิเสธที่จะทำความสะอาดห้องสุขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูมรสุม เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้ออหิวาตกโรคและโรคติดเชื้อจากน้ำอื่นๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาเผชิญหน้าท้าทายสำคัญของนางอองซานซูจี เจ้าหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติวิจารณ์สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาว่า ขาดความรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี รัฐบาลเมียนมาและหน่วยงานบรรเทาทุกข์มีกำหนดจัดการเจรจาในสัปดาห์หน้า เพื่อแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ การจัดเจ้าหน้าที่คุ้มกันขบวนรถบรรทุกความช่วยเหลือด้านอาหาร
ทีมต่างประเทศ
CR:Reuters