การอุทธรณ์คำพิพากษา สลาการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. แถลงข้อเท็จจริงและรายละเอียดกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค.ปี 51 เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยที่ 4 แต่ไม่อุทธรณ์นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่2 และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จำเลยที่ 3
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อุทธรณ์เฉพาะกรณี พล.ต.ท.สุชาติ นั้น เนื่องจากเห็นว่า การสลายชุมนุมแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนโยบายมีจำเลยที่ 1-3 และฝ่ายปฏิบัติคือจำเลยที่ 4 และเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะผู้พิพากษา 9 รายในคดีนี้ พบว่า มีเสียงข้างน้อย 1 ราย ที่เห็นว่า มีการเตรียมแผนการไว้ก่อน เช่น มีการมอบหมายให้ใช้แผนกรกฎ 48 และการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอาจทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีขั้นตอนการใช้รถดับเพลิง ดังนั้นในเมื่อจำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายปฏิบัติได้หารือกับผู้ใต้บังคับบัญชาใช้แผนดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วง 6 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม อาจทำเกินเลยกว่าเหตุ ป.ป.ช. จึงอุทธรณ์จำเลยที่4 เพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 1-3 นั้น เป็นฝ่ายนโยบาย ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ และการสลายการชุมนุมครั้งนี้ทำต่อเนื่องกันและจบภายในวันเดียว ไม่ได้ยืดเยื้อไปหลายวัน หากมีการยืดเยื้อไปหลายวัน แล้วฝ่ายนโยบายไม่มีการทบทวนการปฏิบัติดังกล่าว ฝ่ายนโยบายจึงอาจผิดด้วยได้
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวย้ำว่า ป.ป.ช.วิเคราะห์จากคำพิพากษากลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงไม่ได้เอกฉันท์ แต่อยู่ด้วยระบบเสียงข้างมาก ตัวผมเองไม่ได้ออกเสียง โดยเสียงข้างมาก 7 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง เห็นว่าไม่ควรอุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 ส่วนจำเลยที่ 4 เสียงข้างมาก 8 ต่อ 0 เสียง เห็นควรควรอุทธรณ์ ผมไม่ได้ออกเสียง นี่คือบทสรุป ส่วนรายละเอียดตรงไหน อย่างไร เป็นอำนาจศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย แต่อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. คือมาวิเคราะห์ วินิจฉัยในอำนาจหน้าที่ว่า ควรอุทธรณ์หรือไม่อย่างไร แต่อุทธรณ์เฉพาะที่เห็นว่า มีพยานหลักฐาน เหตุผลเพียงพอที่ควรอุทธรณ์
CR:Nation