สุเทพ พร้อมสู้คดีสลายนปช. หากป.ป.ช.ยื่นฟ้องศาลฎีกาฯ

31 สิงหาคม 2560, 12:44น.


หลังศาลอาญา อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ยืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทรณ์ ยกฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดการฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 นายสุเทพ เปิดเผยว่า สิ่งที่ตัวเองและนายอภิสิทธิ์ได้กระทำนั้น เป็นไปตามกฎหมาย ศาลอาญา ก็ได้วินิจฉัยตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จนถึงศาลฎีกาว่า การกระทำเห็นชอบด้วยกฎหมาย



ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้วินิจฉัยไม่รับคำฟ้องแล้วเช่นกัน และหาก ป.ป.ช. คิดว่าประเด็นนี้จำเป็นที่จะต้องยื่นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็พร้อมจะสู้คดี ซึ่งตัวเองก็พร้อมที่จะสู้คดีตั้งแต่บวชเป็นพระแล้ว โดยมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อมูลต่างๆ ซึ่งได้เขียนเป็นหนังสือออกมา ชื่อหนังสือว่า "คำให้การพระสุเทพ ปภากโร"



ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคดีนี้เข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีความมั่นใจหรือไม่ หลังจากที่ศาลได้พิพากษายกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและจำเลยรวม 4 คน ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 นายสุเทพ กล่าวว่า  เรื่องดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน เนื่องจากในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯมีการใช้แก๊สน้ำตา แต่ในคดีของตัวเองเป็นเรื่องของการสั่งการตามกฎหมาย ภายใต้พ.ร.ก. การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสั่งการของตัวเองในแต่ละขั้นตอนก็มีคณะกรรมการร่วมพิจารณาด้วย ยืนยันว่า ได้สั่งไม่ให้มีการใช้แก๊สน้ำตาและปืน เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ แต่สาเหตุที่ต้องมีการสั่งให้ใช้อาวุธจริงเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ลอบยิงพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธจริงได้เพื่อยับยั้งฝ่ายที่จ้องจะทำร้ายประเทศชาติและประชาชน



ส่วนคดีที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. มีคดีเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งหลังได้รับการปล่อยตัวจากค่ายทหารช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ได้มอบตัวเพื่อต่อสู้คดี ตามที่อัยการสูงสุด สั่งฟ้องแล้ว ซึ่งนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ก็ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดว่า อัยการสั่งฟ้องได้อย่างไรทั้งที่ไม่มีการสอบสวนเลย ต่อมาอัยการสูงสุด สั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งคดีในลักษณะนี้จะต้องใช้เวลาหลายปี แต่ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม จำเลยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะต่อสู้คดีในทุกขั้นตอน



ส่วนแกนนำ กปปส. จำนวนหนึ่งถูกยื่นฟ้องไปแล้ว อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล ยังสืบพยานโจทก์ไม่ครบ เมื่อถึงขั้นตอนการสืบพยานจำเลย ก็พร้อมที่จะไปเบิกความเป็นพยานจำเลย



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข



 



 

ข่าวทั้งหมด

X