การจัดงาน Smart Life by MRT Orange Line เชื่อมสายทาง สร้างคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ที่ปรึกษารฟม. รักษาการแทน รองผู้ว่าการรฟม.เป็นประธานการจัดงาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง จากกรุงเทพมหานคร และจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล มาพูดคุยกันบนเวที และร่วมกันกดปุ่มแสดงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นทางการ
นายธีรพันธ์ เปิดเผยภาพรวมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของรฟม. ว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สายทาง 13 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเริ่มต้นเส้นทางจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลไปทางถนนพระราม 9 ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ตัดผ่านถนนกาญจนาภิเษกไปสิ้นสุดที่ถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี ด้วยระยะทาง22.57 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10สถานี สถานียกระดับอีก7สถานี และเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในภาพรวมร้อยละ 1.40 คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2566 จะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรที่ติดขัดในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมาก
ทั้งนี้ รฟม. ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุมัติ เมื่อผนวกรวมเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งสายแล้ว ถือว่าเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ผ่านใจกลางเมืองไปยังกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการรฟม.และในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนที่ 1 กล่าวถึงการกำกับดูแลดำเนินงานก่อสร้างโครงของรฟม.ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมว่า การป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในแนวสายทาง รฟม.ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างทันสมัยและมีมาตรฐานในระดับสูง และมีการจัดกิจกรรม MRTA Green Constructions ตามแนวคิด รักษ์โลกดูแล ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างที่มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายต้นไม้ รฟม.จะประสานกับสำนักงานเขต เพื่อทำการล้อมต้นไม้ ขนย้ายต้นไม้ ไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนที่มีการย้ายต้นไม้ไปแล้ว ได้จัดทำแผนผ้าใบพิมพ์กลางต้นไม้บนแนวแบริเออร์ เพื่อรักษาพัฒนาการทัศนียภาพให้ร่มรื่นตลอดทั้งสายทาง นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดกิจกรรม รฟม. เชื่อมโยงชุมชนเดินตามรอยศาสตร์พระราชา นำพาสังคมสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนในแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้มาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารเคมี การทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น เพื่อน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ส่วนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย นายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการรฟม. และในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนที่ 2 ระบุว่า รฟม.ยึดถือ ความปลอดภัย เป็นหัวใจหลักของการทำงานทุกขั้นตอน โดยได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความปลอดภัยในการก่อสร้างร่วมกับผู้รับจ้างทุกสัญญา และได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในการสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามแผน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยจะมีบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างจะเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนี้ผู้บริหารรฟม.จะมีการประชุมร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาและผู้จ้างเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างและปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยให้สอดคล้องกับนโยบายการก่อสร้างความปลอดภัยของรฟม. เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้เส้นทางที่ต้องอยู่ร่วมกันกับงานก่อสร้าง
ขณะที่ พลตำรวจตรีจิรพัฒน์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการร่วมวางแผนงานกับ รฟม.และกรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อให้ประชาชนสะดวกและปลอดภัยที่สุด แนวก่อสร้างในพื้นที่รามคำแหง มีประชาชนอาศัยและสัญจรจำนวนมาก ปัจจุบันถนนรามคำแหง มีช่องทางจราจร3 ช่องทาง ทั้งขาเข้าและขาออก โดยจะยังคงการเดินรถให้เป็น 3 ช่องทางให้ได้มากที่สุด ด้วยการเปิดใช้ไหล่ทางเพิ่มให้เหลือ 3 ช่องทางเช่นเดิม โดยมีการประชาสัมพันธ์ ออกข้อบังคับห้ามจอดในแนวการก่อสร้างตลอดเวลา และขอความร่วมมือห้ามจอดรถบริเวณไหล่ทาง จะเริ่มเข้มงวดตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ