ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ยืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทรณ์ ยกฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดการฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
ดังนั้น การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้
ศาลฎีกา ตรวจสำนวนได้ข้อยุติแล้ว โดยการสลายการชุมนุมที่มีคนถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บ เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางการทหาร ที่ให้ ศอฉ.ดำเนินการควบคุมเพื่อสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม และจำเลยที่ 2 นายสุเทพ เซ็นคำสั่ง และจำเลยที่ 1 นายอภิสิทธ์ เซ็นคำสั่งให้ดำเนินการตามมาตรการโดยเร็วที่สุด ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ และข้อเท็จจริงปรากฎว่า ดีเอสไอ สอบสวน และส่งพนักอัยการสั่งฟ้อง ในคดีที่เกี่ยวกับฆาตกรรม แต่คดีนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งศาลอาญา ไม่มีอำนาจพิจารณา ฎีกา ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ
ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข