แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมถนน นายประมณฑ์ สถาพรนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 11กรมทางหลวง อธิบายว่า แบ่งพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง 8 จุด ซึ่งกรมทางหลวงได้แก้ไขตามศักยภาพของถนน เริ่มจากจุดแรก กรมทางหลวงได้สร้างแนวคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ปากคลองพระยาบันลือถึงเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จุดที่สอง สร้างแนวคันกั้นน้ำใต้คลองพระยาบันลือฝั่งตะวันตก จุดที่สาม สร้างแนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่สี่ แนวคันกั้นน้ำ จากปากคลองระพีพัฒน์ฝั่งตะวันออกตามแนวแม่น้ำป่าสักจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่ห้า ย้ายแนวคันพระราชดำริไปคลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งใต้ถึงคลองเจ็ด จุดที่หก สร้างแนวป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ สรุปว่า จุดแรกถึงจุดที่หก มีปัญหาน้ำหลาก จึงมีการยกระดับถนนและคันทาง เพื่อกันน้ำที่จะไหลเข้าสู่ถนน ส่วนจุดที่เจ็ดเป็นการ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามเส้นทางหลวง34 บางนา-ตราด และจุดที่แปด เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามแนวคลอง 13 และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยในจุดที่เจ็ดและแปดมีการสร้างสะพานข้ามคลอง โดยมีความยาวของช่วงสะพานมากขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ระบายน้ำ ในแต่ละจุด จะมีวิธีการป้องกันที่แตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมในพื้นที่ นอกจากนี้ในระยะยาว สำนักทางหลวงที่ 11 จะมีวิธีการจัดการน้ำฝน โดยใช้หลักการ "แก้มลิง" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะหาพื้นที่บ่อพักน้ำ เพื่อให้น้ำฝนไหลจากพื้นผิวจราจรไปสู่บ่อพักน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง และจะทำการขุดลอกท่อระบายน้ำเพิ่ม นายประมณฑ์ กล่าวว่า จะนำเสนอมาตรการระยะยาวด้านการจัดการทรัพยากรน้ำต่อนายสราวุธ ทรงศิวิไล รองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายวิชาการ เพื่อพิจารณาต่อไป
ธีรวัฒน์