แนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 นายประมณฑ์ สถาพรนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 11 กรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำนักทางหลวงที่ 11 มีโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะเร่งด่วน คือ การสร้างแนวคันกั้นน้ำตามจุดต่างๆ และสร้างแนวป้องกันนิคมอุตสาหกรรม ส่วนมาตรการระยะยาว คงจะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าจะมีระบบจัดการอย่างไร โดยอาจมีการยกระดับผิวถนนให้สูงขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบันกรุงเทพฯมีพื้นผิวถนนต่ำมาก ทำให้น้ำท่วมขังได้ง่าย หรือการขุดลอกท่อเพื่อระบายน้ำ หรือหาพื้นที่ส่วนใกล้เคียงที่สามารถรองรับน้ำได้ สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับปัญหาอุทกภัย คือ ต้องกันน้ำไม่ให้ท่วมเข้าเขตเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศ ส่วนปัญหาการจราจร นายประมณฑ์ เปิดเผยว่า สำนักทางหลวงที่ 11 มีอุบัติเหตุด้านจราจรมากรวมกันถึง 1ใน 4 ของอุบัติเหตุจราจรทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่เมืองขนาดใหญ่ และมีปริมาณรถมาก โดยร้อยละ 80 ของการเกิดอุบัติเหตุมาจากรถบรรทุก
ส่วนการแก้ไขปัญหาการจราจร คงต้องแก้ไขไปตามพื้นที่ถนน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน โดยบางพื้นที่อาจต้องเพิ่มช่องทางจราจร หรือทำสะพานข้าม ขณะที่บางพื้นที่อาจต้องลดจังหวะสัญญาณไฟ เช่น ไม่ให้เลี้ยวขวา แต่ให้กลับรถข้างหน้า เพื่อลดปัญหาจราจร ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัย จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล และจะมีการซ่อมพื้นผิวจราจรเมื่อครบกำหนดอายุงาน อย่างไรก็ดี นาย ประมณฑ์ ยอมรับว่า ด้วยการที่เป็นเมืองใหญ่ และมีการจราจรหนาแน่น การแก้ไขด้วยกำลังของสำนักทางหลวงเพียงด้านเดียว คงยากต่อการสำเร็จ จึงต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนเคารพกฎหมาย และขับรถอย่างมีวินัย ซึ่งจะช่วยรถปัญหาการจราจรได้ และหากประชาชนมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนถนน สามารถโทร 1586 ได้ตลอด 24ชม. ส่วนงานนิทรรศการการแสดงผลการดำเนินงานของสำนักทางหลวงที่ 11 วันนี้ แบ่งผลงานประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มการจัดการจราจร กลุ่มอำนวยความปลอดภัย กลุ่มการก่อสร้างในสำนักทางหลวงที่11 และกลุ่มบำรุงทางและจัดการองค์ความรู้
ธีรวัฒน์