+++การพิจารณาคดีรับจำนำข้าวได้เข้าสู่กระบวนการสุดท้ายแล้วคือ การอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังศาลประทับรับฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 มีนาคม 2558 ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยตลอด 2 ปีเศษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเดินทางมาที่ศาล 26 นัด เนื่องจากศาลกำหนดให้เข้าร่วมกระบวนการไต่สวนพยานทุกนัดตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งถอนประกัน ปรับเงินประกัน 30 ล้านบาท ออกหมายจับ
+++ตามขั้นตอน องค์คณะตุลาการศาลฎีกาฯ จะอ่านคำวินิจฉัยกลางที่ได้มาจากการประมวลความเห็นส่วนตัว โดยการพิจารณาจะมาจากพยานหลักฐานและการไต่สวนก่อนหน้านี้ โดยที่ตุลาการศาลฎีกาฯจะวินิจฉัยโดยยึดหลักของกฎหมาย แนวทางการตัดสินจะมี3แนวทาง คือ ศาลยกฟ้อง อัยการสูงสุด มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ผิดแต่ให้รอลงโทษอาญา ไม่ต้องจำคุก อัยการสูงสุด มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งองค์คณะ 9 คน พิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะ และแนวทางสุดท้าย ตัดสินว่าผิด จำคุกทันที จำเลยยื่นอุทธรณ์ 30 วัน และสามารถยื่นขอประกันตัวได้
+++ศาลฎีกาฯจะอ่านคำพิพากษา รวมถึงคดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย รวมทั้งข้าราชการและเอกชนร่วมเป็นจำเลยรวม 28 คน เป็นลำดับแรก ส่วนคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ คาดว่าจะมีในช่วงบ่าย ล่าสุด มีรายงานว่า อดีตส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่เดินทางมาถึงแล้ว เช่น นายวัฒนา เมืองสุข นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รวมถึงนายพายัพ ชินวัตร พร้อมทนายตรวจเอกสารด้านหน้า เพื่อจะเข้ามาด้านในศาลฎีกาฯ แล้ว ขณะที่ทีมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ประสานมาที่ศาลฎีกาแล้ว
+++พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค8 และภาค9 จำนวน 24 กองร้อย และตำรวจจราจร 80 นาย โดยจัดกำลังอยู่บริเวณหน้าศาลฏีกา และบริเวณโดยรอบของอาคารที่ทำการศาลฎีกา จะมีมาตราการเข้มข้น 100% ในช่วงเช้านี้ จะมีการคัดกรองบุคคลและรถยนต์ที่จะเข้าออกภายในอาคาร จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น ส่วนเรื่องการจราจรห่วงมากที่สุด ได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเพิ่มขึ้นอีก 80 นายเพื่ออำนวยการจรจราจรไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อประชาชนทั่วไป พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า การดูแลความปลอดภัยยังมีการตั้งจุดคัดกรองซึ่งจะเป็นการตรวจอาวุธ และสิ่งผิดกฏหมายทั่วไป โดยจะมีการตั้งในเขตที่ศาลหวงห้าม และรอบบริเวณที่ศาลหวงห้าม และหากการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นลง แต่ยังมีการชุมนุมยืดเยื้อและเข้าหลักกฏหมายก็จะดำเนินการโดยทันที
+++เมื่อวานนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เปิดบ้านพักรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตลอดจนนายทหาร นายตำรวจ เข้าร่วมอวยพร เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 97 ปี พล.อ.เปรม ขอบใจ พล.อ.ประยุทธ์ และทุกคน ที่ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด อยากให้นายกฯ สนใจเรื่องที่ตัวเองมุ่งปรารถนาทำเพื่อชาติบ้านเมือง เชื่อคนไทยเข้าใจรัฐบาล ขอให้หนักแน่นมั่นคง เป็นนายกฯ คนเดิม สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกจนถึงเป็นนายกฯ ถ้าทำได้เช่นนั้นคิดว่าการปวดศีรษะก็คงน้อยลง แม้ว่าตัวเองจะช่วยนายกฯ ไม่ได้มากนักนอกจากนาน ๆ จะคุยกันที ให้กำลังใจกันเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อกัน
+++การแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามในคำสั่ง กทม.ที่ 2650/2560 ให้ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. และแต่งตั้ง พล.ต.ท.ชินทัต มีศุข เป็นรองผู้ว่าฯ แทน เนื่องจาก พล.ต.ท.อำนวยมีภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาทของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์นอกจากนี้ยังเป็นผู้บรรยายพิเศษในหลักสูตรต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยังเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันอื่นๆ ทำให้มีเวลาในการปฏิบัติราชการให้แก่ กทม.น้อยลง
+++การปฎิรูปตำรวจ มีการจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยมีประชาชนจากภาคกลาง ทั้งหมด 199 คน จาก26 จังหวัด เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฎิรูปตำรวจ กล่าวว่า การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการส่วนหนึ่งต้องการให้มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ภารกิจของตำรวจ ปรับปรุงกฎหมายด้านการบริหารบุคคลของตำรวจ มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา ที่ส่งผลต่อประชาชน ทั้งด้านรักษาความสงบเรียบร้อยปัญหาด้านการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยสาเหตุเกิดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการบริหารและปฏิบัติงานของตำรวจ การขาดแคลนทรัพยากรด้านบริหาร ร่วมทั้งโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของตำรวจที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
+++การปฏิรูปจะต้องมีการกำหนดแผนที่ชัดเจน ระยะเร่งด่วน 5 ปีแรก คือ การสร้างระบบการบริหารจัดการบุคลากรและการแต่งตั้งโยกย้ายที่ปราศจากการแทรกแซง เป็นอิสระและมีความเป็นธรรม การทำงานของตำรวจตอบสนองต่ออาชญากรรมยุคใหม่ รวมถึงการกระจายอำนาจเพื่อให้การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนระบบสอบสวนคดีอาญาต้องเป็นอิสระ มีการตรวจสอบถ่วงดุล ปราศจากการแทรกแซง และทำงานไม่ล่าช้า ส่วนเป้าหมายระยะปานกลาง 5 - 10 ปี คณะกรรมการเห็นว่า ควรทำเรื่องการโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก ไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง การกระจายอำนาจลงสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น