การเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำท่าจีน ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็นส่วนตะวันออกฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่อยู่บริเวณจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผลการศึกษาครั้งนั้น มีข้อสรุปว่าจะต้องปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เช่นเดียวกับฝั่งตะวันตก ที่ศึกษาแล้วพบว่าจะต้องปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานเช่นกัน อย่างไรก็ตามเพื่อให้การแก้ไขเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด โดยเลือกศึกษาแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง พื้นที่9จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดสมุทรสาคร เพราะพื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญมาก อีกทั้ง3ปีที่แล้ว ปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่แม่น้ำแม่กลองมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบน้ำไม่เพียงพอ
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงศึกษาการแก้ไขปัญหาโดยกำหนดทำคันกั้นน้ำ เพื่อแบ่งการใช้น้ำระหว่างน้ำจืดกับน้ำกร่อย ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีคลองชลประทาน จำนวน68คลองที่สามารถเพิ่มศักยภาพระบายน้ำจากตอนบนลงตอนล่างของอ่าวไทยได้ แต่จะต้องปรับปรุงคลองหลักๆ3-4สาย ที่ไม่เชื่อมโยงกัน หรืออาจจะบุกรุก มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ จึงมีการหาแนวทางทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันเพื่อจะให้ระบายน้ำได้ และเพื่อลดความสูญเสียจากน้ำดิบที่จะส่งมาจากตอนบนด้วย และที่สำคัญพื้นที่ตอนกลางบริเวณคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มีพื้นที่เกษตรที่จะต้องอาศัยน้ำจืดจากแม่น้ำแม่กลองด้วย แต่ตอนนี้น้ำจืดในแม่กลองลดน้อยลง ทำให้ต้องศึกษาว่าหากจะต้องเอาน้ำจืดมาใช้จะต้องประหยัดอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องสร้างอาคารบังคับน้ำ ในเบื้องต้นคาดว่าประมาณกว่า20แห่ง แต่การสร้างอาคารบังคับน้ำอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนได้ ดังนั้นต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป และพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ว่า การสร้างอาคารบังคับน้ำอาจจะกระทบต่อการทำมาหากินบ้าง ประชาชนจะยินยอมหรือไม่ และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพยายามทำออกมา เพื่อหาคำตอบและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ส่วนภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ขณะนี้ทุ่งเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีการควบคุมไม่เกิน1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตอนนี้ก็เริ่มปริ่มแล้ว โดยหลักการก็ยังควบคุมไม่ให้เกิน1,500ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอยู่ และปล่อยน้ำออกทางด้านซ้ายและด้านขวาของเขื่อนเจ้าพระยา ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจำนวน1,100ลูกบาศก์เมตร จากที่ควบคุมไม่ให้เกิน1,200ลูกบาศก์เมตร กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องควบคุมปริมาณเพื่อไม่ให้มีมากเกินไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเจอมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อยู่ และจากการพยากรณ์อากาศพบว่าปลายเดือนสิงหาคม ปริมาณฝนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และได้พยายามพร่องน้ำหรือระบายน้ำในคลองชลประทานให้มากขึ้น เพื่อรองรับน้ำที่จะเข้ามา ซึ่งฝั่งตะวันตก จะออกแบบคลองสุนัขหอน และคลองดำเนินสะดวกให้เป็นแก้มลิง ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยสถานการณ์ปัจจุบันกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามระบายน้ำออก เพื่อรองรับน้ำหลากที่จะมาถึง คิดว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้ แต่กลางเดือนกันยายนคาดว่าจะมีฝนตกลงมาจำนวนมาก แต่หลังจากกลางเดือนกันยายน เป็นต้นไป จะมีพื้นที่ประมาณ700,000ไร่ในการรองรับน้ำหลากที่มาได้กว่า1,000ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดว่าเพียงพอที่จะดึงน้ำได้กว่า20วัน เนื่องจากพื้นที่บริเวณพระนครศรีอยุธยา จัดทำพื้นที่ลุ่มต่ำได้กำหนดการปลูกพืชใหม่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ปลูกพืชตั้งแต่ 1พฤษภาคม และเก็บเกี่ยว15กันยายน ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคอีสาน ก็มีปริมาณน้ำลดลง คาดว่าอีก1-2อาทิตย์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อรองรับพายุที่คาดว่าในช่วงปลายเดือนสิงหาคมจะมากขึ้นได้ด้วย
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ