บริษัทที่ปรึกษาจากสิงค์โปร์ วิเคราะห์ธุรกิจการท่าเรือ ต้องปรับตัวรับการควบรวมกิจการของบริษัทเดินเรือ

23 สิงหาคม 2560, 16:45น.


แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการท่าเรือในอนาคต Mr. Aden Wong ที่ปรึกษาบริษัท Drewry จากประเทศสิงค์โปร์ กล่าวในการเสวนาเชิงวิชาการสู่ความเป็นเลิศในธุรกิจการท่าเรือและโลจิสติกส์ ภายใต้หัวข้อ "PAT International Conferrence 2017 : Port of The Future" ว่า อีก 10 ปีข้างหน้าธุรกิจการท่าเรือจะเติบโตแบบติดลบ จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการควบรวมกิจการของบริษัทเดินเรือ ที่ปัจจุบันมีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ ควบรวมกิจการถึงร้อยละ 80 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ และทำกำไรได้อย่างยั่งยืน และจะมีอำนาจในการต่อรองกับการท่าเรือสูงมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการท่าเรือกับบริษัทเดินเรือเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงกับการท่าเรือมากขึ้น และจะใช้เรือสินค้าขนาดใหญ่ขนส่งสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งการท่าเรือจะต้องขุดดิน ปรับปรุงเทคโนโลยี รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่การท่าเรือสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีการกระจายสินค้ามาก มีอำนาจเจรจาต่อรอง ไม่ถูกกดดันในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่ปัจจุบัน จะต้องเน้นการเชื่อมโยงกับการขนส่งทางถนน ทางราง



สิ่งที่การท่าเรือจะต้องดำเนินการหลังจากนี้ คือ การกำกับดูแลการท่าเรือให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทเดินเรือ จะต้องปรับปรุงผลิตภาพ ฝึกอบรม พัฒนาทักษะบุคลากรให้ชำนาญ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวกับการท่าเรือมีน้อยลง



ส่วนการสร้างท่าเรือใหม่ในปัจจุบัน ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะใช้เงินลงทุนมาก สวนทางกับแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง หากมีความจำเป็นจะต้องสร้างควรปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวกำหนดการนำเข้า ส่งออกสินค้า และควรจะก่อสร้างในขนาดพอดีกับความต้องการใช้งานอย่างแท้จริง ไม่ควรสร้างขนาดใหญ่ ไม่ควรนำความอยาก หรือความทะเยอทะยาน มาเป็นตัวกำหนดขนาดของท่าเรือ



Mr. Aden ระบุว่า การก่อสร้างท่าเรือทางภาคใต้ของประเทศไทย จะต้องมีเหตุผลรองรับเพียงพอ และอาจจะไม่ได้สร้างเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านทางตู้คอนเทนเนอร์ เพราะปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลง แต่จะเป็นการขนส่งน้ำมัน ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะต้องประเมินสถานการณ์ และพิจารณาว่าจะบริหารจัดการท่าเทียบเรืออย่างไรให้เหมาะสม โดยศึกษาและวิเคราะห์ให้รอบคอบ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ จะประเมินสถานการณ์ทุก 5 ปี และการประเมินสถานการณ์นั้นไม่ควรยึดปัจจัย GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เพราะตัว GDP กับ ความต้องการขนส่งทางเรือเป็นคนละส่วนกัน GDP สูง ไม่ได้หมายความว่าการขนส่งทางเรือจะสูงตามไปด้วย ปัจจุบันมีการขนส่งด้านอื่นๆ มากมาย และตัวสินค้ายังมีขนาดเล็กลงอีกด้วย



ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ยังส่งผลกระทบต่อปริมาณการเดินเรือ เนื่องจากประชากรยุค Baby Boomer หรือประชากรที่เกิดยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีปริมาณมากที่สุด และมีอัตราการบริโภคสูง เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ มีการลดการบริโภค และลดค่าใช้จ่ายเพื่อนำเงินไปรักษาพยาบาล ดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น Mr. Aden ย้ำว่า การพัฒนาการท่าเรือ จะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน มองภาพรวมเป็นสำคัญและหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นโยบายโปร่งใส และพัฒนาตามความต้องการใช้จริง มีความร่วมมือร่วมกัน จึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ยั่งยืน



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข 

ข่าวทั้งหมด

X