แนวทางการพัฒนาท่าเรือของประเทศไทย เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้กล่าวถึงนโยบาย EEC : Eastern Economic Corridor หรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก และ นโยบาย Thailand 4.0 ในการเสวนาเชิงวิชาการสู่ความเป็นเลิศในธุรกิจการท่าเรือและโลจิสติกส์ ภายใต้หัวข้อ "PAT International Conferrence 2017 : Port of The Future" ว่า การขยายท่าเรือแหลมฉบังมีแบบแผนชัดเจน แต่ยังมีวิสัยทัศน์แคบอยู่บ้าง ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะต้องดูขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเองให้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการ EEC ซึ่งเน้นการพัฒนาใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ต้องประเมินใหม่ว่าท่าเรือแหลมฉบังมีพื้นที่เพียงพอหรือไม่ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดพื้นที่คอขวด เกิดปัญหาเอง และจะต้องเตรียมการให้ทัน รวมทั้งการวางยุทธศาสตร์ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าร่วม เพื่อผลักดันให้เกิดรูปธรรมชัดเจน
ด้าน Mr. Anthonie Versluis ตัวแทนจากบริษัท Loland Berger กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือ จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเทคโนโลยีการพัฒนาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ มีการพัฒนาท่าเรือทุก 10 ปี และประเทศไทยจะต้องพัฒนาท่าเรือไปพร้อมๆ กัน ไม่เน้นเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น
สำหรับารทำโครงการต่างๆ จะต้องวางแผนระยะยาว ปัจจุบัน EEC เป็นการผลักดันภาคอุตสาหกรรม และการนำเข้า ส่งออกสินค้า จะเป็นตัวส่งเสริมความเติบโต ท่าเรือแหลมฉบังจึงมีความสำคัญทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่ม AEC (Asean Economics Community) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ขณะที่ประเทศไทย ยังมีการค้าและเชื่อมต่อกับประเทศอินโดนีเซียและเมียนมาร์น้อย ทำให้ยังไม่มีประตูการค้าด้านตะวันตก ส่วนตัวมองว่าการมีท่าเรือน้ำลึกทวาย อาจจะมีประโยชน์มากกว่าท่าเรือฝั่งตะวันออก แต่ขณะนี้ยังไม่มีผู้ที่จะสามารถตัดสินใจในโครงการนี้ได้