นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ. มีทางด่วนพิเศษครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 200 กม.และในอนาคต กทพ.มีมาตรการสร้างเส้นทางด่วนพิเศษตามตัวเมืองในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน และจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ เพื่อลดปัญหาจราจร เช่น จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น คาดว่าจะสร้างทางด่วนพิเศษต่างจังหวัดได้ที่ จ. ภูเก็ตเป็นที่แรก ในปี 2559 โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีโครงการจริงในอนาคต คาดว่าด่านเก็บค่าผ่านทางของต่างจังหวัดอาจถูกกว่ากรุงเทพฯ เนื่องจากค่าครองชีพต่ำกว่า ส่วนมาตรการความปลอดภัยบนทางด่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล กทพ.มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยและจราจร และอุปกรณ์กู้ภัยพร้อมอำนวยความสะดวกตลอดเวลา ซึ่งหากประชาชนต้องการแจ้งอุบัติเหตุรถเสีย หรืออุบัติเหตุบนทางด่วน สามารถโทรสายด่วน กทพ. 1543 หรือโทรจากตู้โทรศัพท์ของกทพ.บนทางด่วนได้ตลอด 24ชม. ขณะที่สถิติอุบัติเหตุบนทางด่วนในกรุงเทพฯและปริมณฑล นาย อัยยณัฐ เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีหลังแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจจับความเร็ว และมีการรณรงค์ประชาชนให้ขับรถที่ความเร็วไม่เกิน 80กม.ต่อชม. ซึ่งหากมีผู้ขับขี่เร็วกว่ากำหนดจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับ 1,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก นายอัยยณัฐ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝน จึงขอเตือนประชาชนให้ขับรถที่ความเร็วไม่เกิน 60กม ต่อชม.เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถด้วย ขณะเดียวกัน กทพ.ร่วมกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ และประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดกิจกรรม "กทพ. รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา เฉลิมพระชนมพรรษา มหาราชินี 12 สิงหาคม 2557" บริเวณ ท่าชัยยุทธ ศูนย์ศิลปาขีพบางไทร โดยมีการปล่อยปลากว่า 82,000 ตัว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 โดยกทพ.ต้องการให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยสิ่งแวดล้อม
ธีรวัฒน์