การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุมสนช. ในวันที่ 17 ส.ค. เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอในวาระสอง และวาระสาม หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช. ที่มี พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นประธาน กมธ.ฯ ได้พิจารณาปรับปรุงและแก้ไขแล้วเสร็จ เนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.กสม. ที่กมธ.ของสนช. ปรับปรุง มีสาระสำคัญ คือ คุณสมบัติของคณะกรรมการ กสม. ทั้ง 7 คน ที่ปรับระยะเวลาของการมีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในด้านการทำงาน, การสอน, การวิจัย ด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 10 ปีในทุกสายความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากเดิมที่ระบุระยะขั้นต่ำคือไม่น้อยกว่า 5 ปี ขณะที่ บทเฉพาะกาลว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของกสม.ชุดปัจจุบัน ถูกปรับรายละเอียดจากร่างที่กรธ. เสนอ คือ ให้กสม. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎหมายบังคับให้ ให้อยู่ต่อจนครบเวลา 3 ปี และไม่ให้นำการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ เช่น อายุเกิน 70 ปี, สุขภาพดีปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์หรือมีลักษณะต้องห้าม เช่น เคยเป็นข้าราชการการเมืองไม่พ้นระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา เป็นต้น มาบังคับใช้
กรณีที่ต้องสรรหากรรมการ กสม. บทเฉพาะกาล กำหนดให้ คณะกรรมการสรรหา ต้องสรรหาให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน โดยมีขั้นตอนคือ ภายใน 30 วันต้องกำหนดระเบียบกับการจดแจ้งหรือรับจดแจ้งองค์กรเอกชนที่มีสิทธิส่งผู้สมัครเข้ารับการสรรหาให้เสร็จ , ภายใน 30 วันต้องประกาศการจดแจ้งดังกล่าว จากนั้นภายใน 30 วัน องค์กรเอกชนที่จดแจ้งต้องคัดเลือกกันเองเพื่อส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหา ทั้งนี้หากมีกรณีที่ต้องวินิจฉัยคุณสมบัติของ กสม. ชุดปัจจุบัน กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา โดยกำหนดระยะเวลาต้องวินิจิฉัยให้เสร็จ ภายใน 20 วัน
แฟ้มภาพ