โพลล์ ไม่เห็นด้วยจับสลากเบอร์ในแต่ละเขต ไม่ช่วยแก้ทุจริตเลือกตั้ง

12 สิงหาคม 2560, 10:41น.


จากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้ผู้สมัครในเขตจับสลากเบอร์ในแต่ละเขต และจะไม่ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศเหมือนในอดีต สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,119 คน ระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. 2560 ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 41.91 ไม่เห็นด้วย เพราะยุ่งยาก เกิดความสับสน สร้างภาระให้ประชาชน ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ ร้อยละ 33.51 ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง และร้อยละ 24.58 เห็นด้วย เพราะช่วยป้องกันการทุ่มซื้อเสียงได้ ทำให้ประชาชนต้องพิจารณาผู้สมัครให้มากขึ้น เลือกคนดีอย่างแท้จริง



ส่นการยกเลิกระบบผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว (แบบเดิม) จะช่วยให้การเลือกตั้งดีขึ้นหรือแย่ลง ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.93 เห็นว่า เหมือนเดิม ไม่ว่าแบบใดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตได้ ถูกผูกขาดด้วย2พรรคใหญ่ ได้นักการเมืองหน้าเดิม พรรคเดิม รองลงมาร้อยละ 32.80 แย่ลง เพราะประชาชนสับสน สร้างความวุ่นวายให้กับการเลือกตั้ง เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และร้อยละ 21.27 ดีขึ้น เพราะช่วยป้องกันการซื้อเสียง ประชาชนใส่ใจในการเลือกตัวผู้สมัครมากขึ้น เป็นทางเลือกใหม่



ส่วนข้อดีและข้อเสีย ของการใช้เบอร์เดียวกันของพรรคเดียวกันทั้งประเทศ  ข้อดี ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.80 เห็นว่า จดจำง่าย เข้าใจง่าย ร้อยละ 64.97 เป็นวิธีที่ใช้มานาน ประชาชนคุ้นเคย ร้อยละ 63.99 พรรคการเมืองหาเสียงง่าย  ส่วนข้อเสีย ร้อยละ 73.28 เกิดการทุจริต ซื้อเสียงได้ง่าย ร้อยละ 68.54 คนเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล ร้อยละ 54.60 คนจำแต่ตัวเลข ไม่สนใจนโยบาย



ประชาชนคิดอย่างไรกับกรณีที่กรธ.จะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ร้อยละ 60.86 ควรรับฟังความเห็นทั้งประชาชนและนักการเมือง ร้อยละ 58.27 ไม่ว่าจะเลือกตั้งแบบไหนก็มีทั้งข้อดี – ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน ร้อยละ 50.04 อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่าง ฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นต้น



แฟ้มภาพ 

ข่าวทั้งหมด

X