*กม.ไทยเรื่องค้ามนุษย์ยังมีข้อบกพร่องไม่ครอบคลุม ต่างจากต่างชาติโดยเฉพาะไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง*

06 สิงหาคม 2557, 12:30น.


เวทีการสัมมนาเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ :มุมมองที่แตกต่างระหว่างไทยกับต่างประเทศ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เล่าให้ฟังว่า เคยเป็น1ในคณะกรรมการร่างพ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่ง ต้องยอมรับว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ครอบคลุมหลายด้าน เพราะในช่วงที่คณะกรรมการร่างกฏหมาย ประเทศไทยยังมีความเข้าใจว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ปัญหาระดับโลก วันนี้ไทยจึงไม่ควรโทษสหรัฐอเมริกาที่ประเมินให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ในระดับเทียร์3 เพราะสิ่งที่สหรัฐอเมริกาประเมิน คือ ข้อบกพร่องที่คนไทยไม่เห็น เช่น เรื่องการบังคับใช้กฏหมายที่ไม่มีคุณภาพ จับตัวการใหญ่ไม่ได้ ผู้อยู่ในกระบวนการไม่ได้รับโทษ เพราะประเทศไทยมุ่งเอาผิดกับคนดำเนินการ วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ จึงไม่ใช่การโทษผลการประเมินแต่คือการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์



ส่วนกรณีการอุ้มบุญ ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถกระทำความผิดได้อย่างตรงประเด็นเพราะยังไม่มีกฏหมายรองรับ ทำได้เพียงกรณีที่การอุ้มบุญเกิดความผิดพลาดซึ่งจะใช้กฏหมายอาญาในการบังคับใช้กฏหมาย ข้อเสนอที่ดีที่สุดจึงควรเร่งผ่านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องที่ขณะนี้ค้างการพิจารณาอยู่ในสภา เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและการป้องกันการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง



ด้านดร.ชัยยงศ์ สัจจิพานนท์ อดีต เอกอัครราชไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เล่าถึงความแตกต่างในการมองเรื่องการค้ามนุษย์ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งออกเป็น3ด้าน คือ ด้านนโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ในสหรัฐอเมริกามีจริงจังกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาก สะท้อนผ่านภาพยนตร์และสื่อต่างๆ แต่ในประเทศไทยยังขาดการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง  ด้านกฏหมาย ในสหรัฐอเมริกา มีการวางกรอบที่รัดกุมครอบคลุมในทุกๆด้าน เช่นมีหน่วยงานเฉพาะในการดูแลปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะ รวมถึงมีคนอีกจำนวนมากยังไม่เข้าใจปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และด้านการปฏิบัติงาน เมื่อนโยบายและกฏหมายไม่ชัดเจน ทำให้การปฏิบัติงานของประเทศไทยต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ได้มุ่งเน้นการดำเนินคดีอย่างจริงจัง สังเกตได้จากการจับผู้กระทำความผิด เป็นเพียงผู้ดำเนินการ ไม่ใช่เอเย่นต์หรือผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ผู้บริหารของไทย ยังถือว่าขาดความรู้เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ทำให้การแก้ไขปัญหาของไทยไม่ตรงประเด็น



บุศรินทร์



 



 

ข่าวทั้งหมด

X