การแก้ปัญหาการเชื่อมต่อส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน -บางซื่อ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำให้ประชาชนที่จะเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า ต้องเสียเวลาเดินทางโดยใช้รถชัตเติลบัส กว่า 15 นาที เพื่อเดินทางไปรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสถานี ที่มีระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร เนื่องจากการจราจรติดขัด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้มาตรา 44 เร่งรัดหาผู้รับเหมา โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และท้ายที่สุดได้ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ภายใต้วงเงิน 918 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 เดือน เช้าวันนี้ มีพิธีเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเตาปูน-บางซื่อ มีพลเอกประยุทธ์ เป็นประธานในพิธี และจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการครั้งแรกได้หลังเที่ยงวันนี้
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนี้ มีปัญหาจำนวนมาก จึงสั่งให้ใช้มาตรา 44 หาผู้รับเหมา และอย่าเข้าใจว่ารัฐบาลได้ผลประโยชน์จากการก่อสร้างครั้งนี้ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมระบบขนส่งทางราง เพราะเป็นระบบขนส่งที่จำเป็น ขอประชาชนอย่าซ้ำเติมเรื่องปัญหาจราจร รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไข โดยจะสร้างรถไฟฟ้าตามถนนเส้นทางที่มีการจราจรติดขัด ซึ่งบางครั้งการลงทุนบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน ต้องยอมขาดทุน
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่นำเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ขอให้เข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาทุกอย่างต้องทำไปพร้อมกัน รัฐบาลต้องหาผู้ร่วมลงทุน สิ่งที่ต้องดำเนินการคือทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเดินทาง จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเดินทางไป ทำงานอย่างสะดวก รวดเร็ว
สำหรับการสร้างระบบขนส่งทางราง อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมหลายฝ่ายถึงกลัวคำว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ต้องเข้าใจว่าประเทศชาติต้องเดินไปให้ได้
ทั้งนี้ ในส่วนตัวเป็นห่วงในเรื่องรถไฟฟ้าติดขัด การซ่อมแซม ที่พักคอย ต้องหาวิธีการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด ต้องไม่ให้เกิดขึ้น รวมทั้งการเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น ห้องน้ำ ลิฟต์ ที่พักคอย โดยคิดว่าผู้ก่อสร้างคือผู้ที่ใช้บริการ และหวังว่าจะไม่เพิ่มเงิน
นอกจากนี้ ยังขอขอบคุณมิตรประเทศที่มาร่วมสร้างให้เป็นเทศไทย ถือว่าอยู่ร่วมประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และขอให้ทุกฝ่ายคิดถึงประชาชนให้มาก และดำเนินการด้วยความโปร่งใส นายกฯ ยืนยันว่า ราคาค่าโดยสารอยู่ในราคาเดิม ถ้ามีกำไรเพียงพอต่อไปก็น่าจะอยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาเจรจาต่อไป ให้ราคาลดลง ทุกอย่างต้องลงทุน ต่อไปอาจจะถูกลง แต่ต้องคำนึงถึงสองเรื่อง ความสามารถของคนใช้บริการและการทำธุรกิจ การเปิดใช้ส่วนต่อขยายในวันนี้ มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าร่วมงาน
สำหรับอัตราค่าโดยสาร ผู้ถือบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ประเภทบุคคลทั่วไปในวันทำงาน อยู่ระหว่าง 14-57 บาท, อัตราค่าโดยสารสำหรับผู้ถือเหรียญโดยสาร (Token) ในวันทำงาน อยู่ระหว่าง 14-70 บาท และอัตราค่าโดยสารสำหรับผู้ถือบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ถือเหรียญโดยสาร (Token) ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อยู่ระหว่าง 14-43 บาท
นายกฯ กล่าวถึง การสร้างรถไฟกรุงเทพ-นครราชสีมา ยืนยันว่า คำนึงถึงการเชื่อมโยงทางกายภาพ ขยายเมือง ขยายงาน ขยายธุรกิจ และในอนาคต ต้องสามารถใช้เส้นทางรถไฟเดินทางไปยุโรปได้
ส่วนการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กระทรวงคมนาคม ดำเนินการ เป็นการทดลองให้บริการ หากพบปัญหาจะแก้ไขปรับปรุงต่อไป นายกฯ ยังสอบถามว่า จะมีใครประมูลหรือไม่
เรื่องการใช้โดรน ในสนามบินดอนเมือง ระบุว่า กำลังตามหาอยู่ว่าใครทำ เพระกฎหมายมีอยู่ คนใช้ต้องมีจิตสำนึก ว่าจะเกิดความเสียหาย
ขณะที่ การบริการในสนามบินดอนเมือง ที่พบปัญหาติดขัด เกิดความแออัด จะต้องแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยการแก้ปัญหาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สั่งการไปแล้ว และต้องดูด้วยว่าปัญหาเกิดมาจากอะไร เครื่องบินดีเลย์หรือไม่
ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข