ป.ป.ส ไทยผนึกกำลัง 6 ประเทศ เปิดปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ ตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยที่เมียนมา

10 สิงหาคม 2560, 20:38น.


นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้ นางนฤมล ช่วงรังษี รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อสรุปผลการปฏิบัติในปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ (มกราคม - มิถุนายน 2560) ตามแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในช่วงต่อไป เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมอิมพีเรียล โกลเด้นท์ ไทรแองเกิ้ล จังหวัดเชียงราย โดยมีนายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต นางสาวรัชนีกร สรสิริ นายสิทธิศักดิ์ กัลยาณประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ส. นายธันวา ผุดผ่อง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย พร้อมผู้แทนประเทศสมาชิกรวม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ





หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะเวลา 3 ปี (ปี 2559 -2561) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ได้กำหนดให้มีกิจกรรมสำคัญ 6 แผนกิจกรรม ดังนี้ 1) แผนควบคุมสกัดกั้นสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ 2) แผนสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านแม่น้ำโขง และพื้นที่สำคัญ 3) แผนสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดทางบก 4) แผนสืบสวนปราบปรามกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้ารายสำคัญ 5) แผนสนับสนุนมาตรการ การพัฒนาพื้นที่ และการสร้างภาคีพันธมิตรร่วม 6) แผนการพัฒนาการบริหารจัดการ และอำนวยการ ซึ่งทั้ง 6 แผนกิจกรรม มีจุดเน้นสำคัญเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละประเทศสลับกันเป็นเจ้าภาพในการประสานงาน สำหรับใน 6 เดือนแรกของปี 2560 นี้ประเทศไทยโดยศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย จ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ และในห้วง 3 เดือน (กรกฎาคม - กันยายน 2560) ประเทศเมียนมา เป็นเจ้าภาพ จากนั้นห้วงต่อไปอีก 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2560) ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ





สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติในปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ (มกราคม - มิถุนายน 2560) ตามแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) และกำหนดแนวทาง  การดำเนินงานในห้วงต่อไป ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบเรื่องการลงนาม MOU เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย และการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กำหนดการดำเนินงานและกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการปราบปรามยาเสพติด รวมถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหาการลักลอบลำเลียงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ที่อาศัยความร่วมมือภายในประเทศและภายในภูมิภาคอาจไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เห็นควรมีการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศและนอกภูมิภาค เพราะปัญหายาเสพติด เคมีภัณฑ์ และสารตั้งต้นมิใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ปัญหาร่วมกันทั่วโลก





จากนั้น คณะผู้เข้าประชุมฯ ได้เดินทางไปยัง เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ และศูนย์ประสานแม่น้ำโขงปลอดภัย เมืองเชียงตุง



วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น. พลตรี อ่อง โซ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประเทศเมียนมา เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ (ห้วงกรกฎาคม - ธันวาคม 2560) ตามแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ (จีน  สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และไทย) พร้อมรับเป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศไทย (จัดตั้งศูนย์ประสานแม่น้ำโขงปลอดภัย หรือ Safe Mekong Coordination Centre (SMCC)  ณ เชียงตุง รัฐฉานตะวันออก โดยมี นางนฤมล ช่วงรังษี รองเลขาธิการ ป.ป.ส. คณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการตามแผนฯ และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับนโยบายของแต่ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการสืบสวนขยายผลเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญให้สามารถนำไปสู่การจับกุมนักค้ายาเสพติดได้ในที่สุด โดยประเทศเมียนมาจะเป็นเจ้าภาพในห้วง 3 เดือนนี้ (กรกฎาคม - กันยายน 2560)





นางนฤมล ช่วงรังษี รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “ปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ จะก่อให้เกิดความร่วมมือข่าวสารเชิงลึกระหว่างประเทศที่ประสบปัญหายาเสพติดร่วมกันทั้งทวิภาคี และพหุภาคี อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์จากภายนอกประเทศของตนที่เข้าไปยังแหล่งผลิต รวมทั้งสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้ออกจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำให้ได้มากที่สุด เป็นการลดศักยภาพการผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ตามแผน 11 พื้นที่ปฏิบัติการเพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ ทั้งนี้ผลการปราบปรามจับกุมยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2560) ทั้ง 6 ประเทศมีผลการจับกุมรวมทั้งสิ้น 325 คดี ผู้ต้องหา 534 คน ของกลางยาบ้าจำนวน 94,533,159 เม็ด  ไอซ์ 1,484 กิโลกรัม กัญชา 6,730 กิโลกรัม สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์รวม 120,000 กิโลกรัม หากนำไปผลิตไอซ์จะได้มากกว่า 8,000 กิโลกรัม และยาบ้าอีกประมาณ 100 ล้านเม็ด





CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ป.ป.ส.



 



 

ข่าวทั้งหมด

X