เกษตรกรจ.ฉะเชิงเทรา เดินตามรอยเท้าพ่อ ทำเกษตรพอเพียง อนุรักษ์ป่า

10 สิงหาคม 2560, 14:02น.


การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นายนิรุจน์ ศรีเกษม เจ้าของสวนสิริวัฎ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า เริ่มทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานอย่างจริงจังมาแล้ว 3 ปี ในสวนจะมีผักวอเตอร์เครส ถั่วดาวอินคา มะนาว และยังมีเห็ดฟาง ผลไม้ต่างๆ ที่เก็บรับประทานในครอบครัว ส่วนที่เหลือจะแจกจ่าย ในตอนแรกไม่คิดจะทำเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากมีงานประจำอยู่แล้ว แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับเติบโต จนตอนนี้กลายเป็นกิจการขนาดใหญ่ มีชุมชนต่างจังหวัดมาศึกษาดูงาน และมีผู้มาติดต่อซื้อขายหลายราย ปัจจุบันส่งผักวอเตอร์เครส ขายห้างแม็คโครและครัวการบินไทย





สำหรับแนวทางการทำเกษตร น้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ โดยปลูกในสิ่งที่กินและกินในสิ่งที่ปลูก เหลือก็จะแจกจ่ายและขาย พอขยายใหญ่ขึ้นก็ทำให้มั่นคง โดยการแปรรูป ส่งขาย สร้างเครือข่ายเกษตรกร จากนั้นจะช่วยเหลือเกษตรกรให้เดินตามรอย ด้วยการรับสินค้ามาช่วยขาย จึงอยากฝากผู้ที่จะหันมาทำการเกษตรว่าถ้าหากต้องการทำให้มั่นคง ต้องเดินตามรอยเท้าพ่อ เริ่มต้นด้วยวิถีพอเพียง ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเจอปัญหาแล้วค่อยๆ แก้ไข เรียนรู้จากปัญหา เพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นอย่าเริ่มทำอะไรใหญ่ เพราะถ้าทำใหญ่ตั้งแต่แรก เมื่อเจอปัญหาจะแก้ไม่ถูก ส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นเล็กลงกว่าเดิม นายนิรุจน์ เล่าว่า มีพื้นที่ทั้งหมด 150 ไร่ แต่พื้นที่ที่ทำเกษตร มีเพียง 10 ไร่เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะอนุรักษ์ไว้เป็นป่า เพื่อให้สิ่งแวดล้อมใกล้เคียงร่มรื่น





ด้านนางสาวสุรภา การัณภิรมย์ เกษตรกรในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผลิตน้ำหมักชีวภาพ "สุรภา" และแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เปิดเผยว่า อดีตครอบครัวของตัวเอง สมัยปู่ ย่า ตา ยาย จะใช้ปุ๋ยเคมีในการทำนา ทำเกษตรมาโดยตลอด ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมสภาพ ปริมาณผลผลิตน้อยลง และต้องเพิ่มปุ๋ย ทำให้มีรายจ่ายมากยิ่งขึ้น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงหันมาศึกษาการทำน้ำหมักชีวภาพ โดยเข้ามาอบรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ พอใช้ไปดินก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับการใช้ปุ๋ยเคมี หลังจากนั้นจึงขยายองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ที่มีราคาแพง แต่เมื่อขยายความรู้แล้วบางครอบครัวสนใจ แต่ไม่สะดวกที่จะหมักปุ๋ยเอง จึงทำน้ำหมักชีวภาพขาย ซึ่งน้ำหมักชีวภาพ จะใช้น้ำมะพร้าวในการหมัก กลายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีบางครอบครัว นำความรู้ที่ถ่ายทอด ไปทำน้ำหมักชีวภาพเองด้วย





 



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข



 

ข่าวทั้งหมด

X