การจัดสัมมนาเรื่อง การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ :มุมมองที่แตกต่างระหว่างไทยกับต่างประเทศ ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นางแอนเน็ต ลีท ผู้จัดการระดับภูมิภาคโครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ หนึ่งในวิทยากร เริ่มอภิปรายว่า ทั่วโลกมีกรอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ในบางประเทศมีเป็นกฏหมาย บางประเทศมีอนุสัญญาการค้ามนุษญ์ อนุสัญญาการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แต่ก็ยังมีเหยื่อจากการค้ามนุษย์จำนวนมาก โดยจากการสำรวจเมื่อปี2555 พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มากกว่า21ล้านคน ซึ่งจากจำนวนนี้มี11ล้านคนอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจากการสำรวจยังระบุว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรื่องการดำเนินการสืบสวนจนสามารถระบุตัวผู้เสียหายได้ มีประมาณไม่ถึง2,000คดี แต่สิ่งที่สำคัญกว่า นางแอนเน็ต ลีท ชี้แจงว่า บ่อยครั้งที่การดำเนินคดี มักจะดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่ได้มีเจตนาในการค้ามนุษย์ เช่น นายเอ พูดคุยกับนายบี ว่าหากมีคนต้องการหางานทำให้ติดต่อมาที่นายเอ จะหางานให้ จากนั้นเมื่อนางซี มาถามหางานทำจากนายบี นายบีได้แนะนำให้นายเอ รู้จักกับนางซี นำไปสู่การค้ามนุษย์ เมื่อมีการดำเนินคดี นายบีมีความผิดด้วย ทั้งที่ความจริง นายบีไม่มีเจตนาในการนำนางซีไปสู่การค้ามนุษย์ ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า เหนือสิ่งอื่นใด ในการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ คือ การดำเนินคดีเกิดขึ้นกับใคร ใช่บุคคลที่กระทำความผิดจริงหรือไม่
บุศรินทร์