การติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และประตูระบายน้ำบางโฉมศรี จังหวัดสิงห์บุรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำและระบายน้ำให้กับพื้นที่ในเขตชลประทาน คือพื้นที่บางส่วนในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ทางฝั่งตะวันตก ของคลองประมาณ 50,000 ไร่ และพื้นที่บางส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ทางฝั่งตะวันออก ของคลอง ประมาณ 80,000 ไร่ ผ่านคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 ที่มีความยาวทั้งสิ้น 27.810 กิโลเมตร เริ่มต้นในเขตท้องที่ ตำบลคลุก ผ่านเขตตำบลเขาแก้ว ตำบลหาดอาษา ตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และผ่านเขตท้องที่ตำบลชีน้ำร้าย ตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี คลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 ทำหน้าที่เก็บกักน้ำในฤดูเพาะปลูกและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูเก็บเกี่ยว โดยใช้ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เป็นอาคารระบายน้ำ
สำหรับในฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับสูงกว่าในคลอง จำเป็นต้องปิดบานระบายน้ำประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมพื้นที่ในเขตชลประทาน
จากอุทกภัย เมื่อปี 2554 ส่งผลให้ ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี และอาคารประกอบได้รับความเสียหาย จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชลประทานใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางโฉมศรี โดยสร้างอาคารไซฟอนคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 ลอดคลองส่งน้ำ ชัยนาท-อยุธยา ให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 160 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยขยายให้ใหญ่กว่าเดิมถึง 2 เท่า ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามคลองชัยนาท-อยุธยา ก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง สูบระบายน้ำได้สูงสุด 24 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จัดทำท่อระบายน้ำพร้อมท่อแยกเพื่อระบายน้ำลงคลองชัยนาท-อยุธยา
แนวทางการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูน้ำหลากของปี 2560 โดยเฉพาะในช่วงที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที และไม่สามารถระบายน้ำผ่านไซฟอนปลายคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 หรือไซฟอนบางโฉมศรี โดยวิธีแรงดึงดูดลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ จึงทำการเปิดเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ทั้ง 4 เครื่อง โดยการเปิดเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง หยุด 1 เครื่อง สลับกันตลอด 24 ชั่วโมงของทุกวัน สามารถระบายน้ำในคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ประมาณวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว และ 12 นิ้ว บริเวณปลายคูระบายน้ำสายหลักๆ ของคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 จำนวน 5 จุด รวมทั้งสิ้น 11 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกข้าว เกษตรกรสามารถทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย
ขณะที่นายสมเจต สินอนันต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลชีน้ำร้าย เปิดเผยว่า ในพื้นที่ความรับผิดชอบชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรกว่า 2,000 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกข้าว ซึ่งก่อนที่จะมีสถานีสูบน้ำบางโฉมศรี เกษตรกรในพื้นที่บริเวณนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมีสถานีสูบน้ำบางโฉมศรี ทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เกือบทั้งหมดในพื้นที่ ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ก็ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในนามตัวแทนของชาวตำบลชีน้ำร้ายและใกล้เคียงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขอบคุณองคมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี