การลงพื้นที่สำรวจอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อดำเนินโครงการสืบสานงานโครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริแบบบูรณาการ ที่จังหวัดเชียงราย โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ มีจำนวนมาก ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริที่กรมชลประทาน ได้ตอบสนองกว่า 2,000 โครงการ เช่นอ่างเก็บน้ำ ประมาณ 1,000 โครงการ และฝายอีกประมาณกว่า 800 โครงการ ในบางโครงการมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จนเกิดการชำรุด และบางโครงการยังไม่มีความสมบูรณ์ของอ่างเก็บน้ำ ทำให้ไม่สามารถเติมหรือเพิ่มประสิทธิภาพน้ำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
กรมชลประทานจึงได้ลงพื้นที่ในการสำรวจร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ เพื่อ ตรวจสอบ โครงการอ่างเก็บน้ำที่มีความชำรุดและมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงฟื้นฟู เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดโดยจังหวัดเชียงรายถือเป็น 1 ใน 22 จังหวัดนำร่องของโครงการนี้ ซึ่งการทำงานครั้งนี้กรมชลประทานได้ทำการลงนามร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการสำรวจปรับปรุง เพื่อให้เป็นไปตามโครงการสืบสานงาน โครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริแบบบูรณาการ โดยตั้งเป้าสำรวจให้เสร็จสิ้น 1-2 ปี
สำหรับพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ มีทั้งสิ้น 242 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีระบบชลประทานจัดส่งน้ำแล้ว 187 โครงการ และอีก 55 โครงการ ยังไม่มีระบบชลประทานต้องส่งน้ำตามลำน้ำเดิม จึงต้องดำเนินการให้สามารถการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในฤดูฝนและฤดูแล้ง พร้อมน้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ของในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ เช่น การพัฒนาโครงการแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และปล่อยน้ำในกรณีที่ขาดแคลนน้ำ รวมถึงประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเรื่องของพืชในปัจจุบันย่อมมีผลต่อการใช้น้ำ โดยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางกรมชลประทานพยายามให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และปรับรูปแบบ รวมถึงบูรณาการประยุกต์ใช้การทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อจัดสรรระบบจัดการเรื่องพืชดินและสัตว์ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด