เครือข่ายประชาคมบางลำพูและภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรม "เทศกาลริมน้ำบางกอก" เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและอัตลักษณ์ของชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเสวนาในหัวข้อ "พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรให้เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่างๆริมน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยามาร่วมเสวนาและสะท้อนความคิดเห็น รวมไปถึงเสนอแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนบางลำพู ชุมชนบางอ้อ ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ชุมชนตลาดน้อย ชุมชนบางกะเจ้า ชุมชนบ้านปูน
นายประมาณ มุขตารี ตัวแทนจากชุมชนบางอ้อ กล่าวว่า ชุมชนของตัวเองมีอายุ 100 ปี และขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของกรุงเทพมหานคร ที่บดบังทัศนียภาพชุมชนและสร้างมลภาวะทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย จึงมองว่าบทเรียน จากการสร้างเขื่อน และไม่เห็นด้วยที่จะมีโครงการสร้างถนนริมน้ำ ทราบมาว่ามีความกว้างประมาณ 14 เมตร และตอม่อประมาณ 80 เซนติเมตร ถือเป็นการบดบังความสวยงามและปิดทางเข้าออกของชุมชน จึงมองว่าการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการทำลายมากกว่าทำให้เกิดประโยชน์ เพราะเมื่อสร้างถนนแล้วจะมีท่าเรือมาขวางกั้นปิดกั้นคนเดินขึ้นลงเรือ อีกทั้งสองฝั่งเจ้าพระยาจะเหลือพื้นที่ริมฝั่งลดลงซึ่งเชื่อว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 พร้อมกันนี้ยังเสนอ ว่าควรจะจัดเป็นลานกิจกรรมให้คนมาเข้าดูสัมผัสวิถีชีวิตริมน้ำ เป็นการเปิดหน้าแม่น้ำให้เห็นเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งวัด มัสยิด แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มากกว่า ซึ่งถ้าหากทางภาครัฐยังคงดึงดันก่อสร้างต่อไปทางภาคประชาชนจะมีมาตรการดำเนินการทางกฎหมายต่อศาลปกครองด้วย
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นด้วยกับการสร้างถนนเลียบแม่น้ำ เนื่องจากทำลายความสวยงาม เพราะการก่อสร้างมีการตอกเสาเข็มจำนวนมาก มองว่าปัญหาของบ้านเรา มีทั้งเรื่องน้ำท่วม แผ่นดินทรุด การก่อสร้างยิ่งจะไปซ้ำเติมให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีก ควรจะร่วมมือกันแก้ปัญหาโดยคนในชุมชนริมน้ำ มีบทบาทสำคัญทั้งเรื่องของขยะ และเรื่องการช่วยกันดูแลความสะอาด แต่ไม่ใช่การไล่คนออกจากชุมชนริมน้ำ ในส่วนตัวยังอยากเห็นความงามแบบดั่งเดิมของแม่น้ำ ไม่อยากให้ทำลายความงาม
ขณะที่ บรรยากาศภายในงาน ชุมชนต่างๆที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ได้นำของขึ้นชื่อของแต่ละชุมชนมาจัดแสดงภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร เช่นชุมชนตลาดน้อย นำเบาะหมอนกราบพระ ทำมากว่า 100 ปี ซึ่งเป็นเจ้าเดียว ขนมเบื้องชุมชนบางลำพู ข้าวผัดกุ้งแห้งสูตรโบราณ
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ ถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตคนริมน้ำบางกอก ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนอีกด้วย ผ่านกิจกรรม #mychaophraya วาดเจ้าพระยาในแบบที่ฉันฝัน บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่โดยผลงานของผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดจะถูกนำไปจัดเป็นนิทรรศการในสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเชิญชวนประชาชนอีกจำนวนมากให้มาร่วมวาดฝันต่อยอดผืนผ้าใบให้ยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด และในช่วงเย็นมีการแสดงดนตรีด้วย
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี