การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธานการประชุม วันนี้ (5 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ที่จังหวัดระยอง เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปเรียบร้อย เมื่อเย็นวานนี้
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ข้อสรุปในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว โดยให้มาจากการเปิดรับสมัครบุคคลตามกลุ่มต่างๆ 20 กลุ่มสังคม เริ่มจากระดับอำเภอ โดยให้กลุ่มสังคม 20 กลุ่ม เลือกกันเองก่อน ซึ่งผู้สมัคร 1 คน มีสิทธิ์เลือกได้ 2 หมายเลข สามารถเลือกตัวเองได้และเลือกคนอื่นได้อีก 1 คน
จากนั้น ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม ไปเลือกไขว้ โดยเลือกคนในกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เพื่อให้ได้คนที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-3 ของแต่ละกลุ่ม เป็นตัวแทนระดับอำเภอ เพื่อส่งไปในระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัด จะดำเนินการเลือกไขว้อีกรอบหนึ่ง ให้เหลือกลุ่มละ 1 คน เพื่อส่งไประดับประเทศ จากนั้น ระดับประเทศ จะดำเนินการเลือกไขว้ ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน จะได้จำนวนทั้งหมด 200 คน โดยวางหลักการเบื้องต้นว่า ในวิธีการเลือกไขว้ ให้นำวิธีการจับสลาก มาใช้ในการแบ่งสายเลือกไขว้ และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการฮั้วหรือซื้อเสียงเกิดขึ้น ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบได้ โดยทั้งหมดนี้ ยังเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นที่ กรธ.ยังต้องส่งให้คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างรูปแบบถาวร ก่อนส่งกลับมายัง กรธ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนบทลงโทษ มีวิธีการเดียวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2550 แต่เพิ่มบทลงโทษใหม่ที่สำคัญ อาทิ การกระทำหรือสนับสนุนให้คนเข้ารับหรือไม่เข้ารับสมัคร หรือมีประโยชน์ต่างตอบแทน ห้ามกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึง ท้องถิ่นช่วยเหลือผู้สมัครให้ได้เป็น ส.ว. และกรณีการจูงใจหรือใช้อิทธิพลให้มีการเลือก ซื้อเสียง สัญญาว่าจะให้ หรือข่มขู่ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี