การใช้ภาษาไทยในยุคของสื่อดิจิทัล ในงานเสวนา เรื่องครบเครื่องเรื่องภาษาไทยและการประยุทธ์ใช้ในสังคมดิจิทัล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. 2560 โดยศ.ดร ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านวาทวิทยา มองว่า ลักษณะการเขียนภาษาไทยในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากในสื่อสังคมโซเชียลมีเดีย โดยมีกว่าพันคำที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ แต่ลักษณะส่วนใหญ่เป็นการกร่อนคำและสร้างความหมายใหม่ อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาในสื่อสังคม บางส่วนยังถือว่าเป็นการใช้ภาษาเพื่อลวงกัน เช่น การระบุประวัติในสื่อสังคมที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ อิทธิพลเรื่องของภาษาไทยที่ใช้ในสื่อสังคมยุคนี้ ยังนำมาใช้ในสื่อกระแสหลักปัจจุบันด้วย เช่นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ปัจจุบันผู้ที่เกิดในช่วง ปี 1988-2000 หรือ Generation Y ถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลด้านดิจิทัล และจะเป็นผู้นำที่จะใช้สื่อสังคม จนออกจากสื่อกระแสหลัก เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่วนผู้ที่เกิดหลังปี 1995 หรือพลเมืองยุค Generation Z จะเป็นผู้ที่ไม่เคยเห็นโลกที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ปัจจุบันได้เข้าสู่วิถีพลเมืองเน็ต ที่มีความกังวลหลายอย่างเช่น เป็นวิถีแห่งจินตนาการที่ใช้สื่อสังคมเป็นแหล่งระบายอารมณ์และเต็มไปด้วยความโศกเศร้า หรือ ดราม่า เป็นวิถีแห่งข้อมูลแต่กลับขาดความรู้หรือมีความรู้น้อย เป็นวิถีแห่งการแสดงตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริงโดยมักเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยได้เปรียบการใช้สื่อสังคม ในปัจจุบันว่าเป็นเหมือนอวตารที่คนคนหนึ่งมีหลายตัวตน โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นเหมือนตัวตนที่แท้จริง แล้วการเดินไปบนวิถีเน็ตก็เป็นเหมือนการดึงเข้าไปในป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายปีศาจและเทวดา ดังนั้นการใช้อินเตอร์เน็ตหรือสื่อสังคมจึงต้องมีสติเพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อ
ด้านนางสาวเขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก ดารานักแสดง ได้แสดงความคิดเห็นการใช้ภาษาไทยในสื่อสังคม ว่าทุกวันนี้มีการเสพสื่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเป็นจำนวนมาก จำเป็นจะต้องใช้วิจารณญาณในการฟังและชม ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ได้แสดงละครมาทำให้เห็นว่า ปัจจุบันการใช้ภาษามีความละเอียดอ่อนที่น้อยลง โดยได้ฝากไว้ว่า อยากให้ทุกคนใช้ภาษาด้วยความชัดเจนบริสุทธิ์ เป็นผู้นำที่ดีในฐานะที่มีภาษาเป็นเอกลักษณ์ของประเทศอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม