รองนายกฯวิษณุ ย้ำ สอบทุจริตขรก.ไม่กระทบการทำงาน ย้ำ แต่งตั้งปลัดก.แรงงานข้ามห้วย เหมาะสม

27 กรกฎาคม 2560, 10:49น.


คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เรื่องรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างตรวจสอบการทุจริตเพิ่มเติม ฉบับที่ 9 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า เป็นเหมือนคำสั่ง 8 ฉบับที่ผ่านมา โดยจะตั้งคณะกรรมการสอบภายใน 1 เดือน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ สามารถขอขยายระยะเวลาได้ โดยก่อนหน้านี้ ส่งมา 90 ราย แต่เป็นข้าราชการระดับล่าง 20 ราย ซึ่งอยู่ในขั้นที่จะต้องถูกพักโดยคำสั่ง และส่งคืนไปพิจารณากันเอง ไม่จำเป็นต้องออกเป็นคำสั่ง  คำสั่ง 8 ฉบับก่อนหน้านี้  มีจำนวนผู้ที่ถูกเรียกตามคำสั่งพักงานทั้งหมด 353 ราย ซึ่งได้มีการแยกประเภททั้งเสียชีวิต พ้นสภาพ ลาออก ไล่ออก ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า และจะเป็นผู้ชี้แจงด้วยตนเอง



นายวิษณุกล่าวอีกว่า รายชื่อข้าราชการล็อตล่าสุด เป็นข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งก็กรณีถูกร้องเรียนทุจริต และประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งค้างคามาจากคำสั่งหลายฉบับก่อนหน้านี้ ขณะนี้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กำลังตรวจสอบ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง นายวิษณุ ยืนยันด้วยว่าจะไม่กระทบกับงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และไม่เกี่ยวข้องกับการเคลียร์ขั้วการเมืองของแต่ละฝ่าย



ส่วนพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่ระบุว่า  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต้องเป็น ข้าราชการพลเรือน  นายวิษณุระบุว่า ก่อนหน้านี้ก็มีการบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งในกรณีที่ผู้เข้ารับตำแหน่งหากเป็นทหารหรือตำรวจมาก่อนเมื่อมาอยู่ในสมช.ก็จะต้องโอนมาเป็นพลเรือน เช่นเดียวกับพล.อ.ทวีปเ นตรนิยม เลขาธิการสมช.คนปัจจุบัน โดยการรับโอนเปลี่ยนสถานะจากข้าราชการทหารหรือตำรวจมาเป็นข้าราชการพลเรือน  ส่วนที่มีการเปิดช่องไว้ในกฎหมายจะทำให้ข้าราชการในสังกัดเสียกำลังใจหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ในทุกกระทรวงมีการระบุไว้เช่นนี้มาโดยตลอด แต่ขณะนี้กำลังพิจารณาชดเชย โดยอาจเปิดตำแหน่งใหม่ให้ เพื่อให้ข้าการในสังกัดสามารถเติบโตได้



สำหรับการปรับย้าย นายจรินทร์  จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน  นายวิษณุ ย้ำว่าได้พิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งนายจรินทร์ก็เคยทำงานในส่วนนี้มาก่อน



ส่วนกรณีที่ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาทำหนังสือถึงสมเด็จพระสังฆราชให้วินิจฉัย  มติมหาเถรสมาคม แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งถูกสอบว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นายวิษณุระบุว่า ยังไม่ได้ติดตามในเรื่องนี้แต่โดยปกติแล้ว สมเด็จพระสังฆราชจะใช้วิธีนำเรื่องเข้า ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อให้ทบทวน ซึ่งที่ประชุมมีมติปรับเปลี่ยนคำสั่งหรือไม่ก็ได้

ข่าวทั้งหมด

X