บีบีซี รายงานอ้างศาลยุติธรรมแห่งยุโรป(อีซีเจ)ว่า ศาลมีคำตัดสินว่ากฏหมายที่กำหนดให้ผู้อพยพจะต้องยื่นเรื่องขอลี้ภัยในประเทศแรกของกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ที่พวกเขาเดินทางไปถึงสามารถจะใช้บังคับได้แม้ในยามสถานการณ์ไม่ปกติเช่นในขณะนี้ คดีนี้ซึ่งรัฐบาลออสเตรียและสโลวีเนียยื่นเรื่องให้ศาลอีซีเจของอียูพิจารณา อาจจะกระทบต่ออนาคตของผู้อพยพหลายแสนคนที่เดินทางไปถึงยุโรปในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติผู้อพยพระหว่างปี 2558-2559
คำตัดสินคดีนี้เกี่ยวข้องกับครอบครัวชาวอัฟกานิสถาน 2 ครอบครัวและชาวซีเรียรายหนึ่งที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัยต่อทางการออสเตรียหลังข้ามแดนมาจากโครเอเชีย ศาลเพิ่มเติมว่า โครเอเชียก็มีอำนาจจะชี้ขาดปัญหานี้เองเช่นกัน ปัญหาวิกฤตินี้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงภาคฤดูร้อนปี 2558 เมื่อผู้อพยพราวหนึ่งล้านคนข้ามชายแดนจากแถบประเทศทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่านเข้าไปยังยุโรป โดยหลักทั่วไปภายใต้กฎระเบียบที่เรียกว่าข้อตกลงกรุงดับบลิน ผู้อพยพจะต้องยื่นเรื่องขอลี้ภัยกับรัฐบาลในประเทศแรกของกลุ่มอียูที่พวกเขาไปถึง
ต่อมา เยอรมนีระงับการใช้กฎระเบียบนี้ชั่วคราวสำหรับกรณีผู้อพยพชาวซีเรีย พร้อมทั้งระงับการเนรเทศผู้อพยพกลับยังประเทศแรกในกลุ่มอียูที่พวกเขาไปถึง นับแต่เดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมา มีผู้อพยพหลายร้อยคนเดินทางไปถึงออสเตรีย ในแต่ละวัน ในตอนแรกผ่านฮังการีและต่อมาผ่านสโลเวเนีย ส่วนใหญ่ต้องการจะมุ่งหน้ายังเยอรมนี ที่ผ่านมาผู้อพยพราว 9 หมื่นคนยื่นขอลี้ภัยในออสเตรีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมดของออสเตรีย ส่งผลให้ออสเตรียและสโลวีเนียยื่นเรื่องให้ศาลมีคำตัดสินชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว
ทีมต่างประเทศ
CR:news.psychodaily.com