หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจที่ต้องการให้รัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรี ว่า ขออย่าเพิ่งพูดในเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าจะปรับใครเป็นรัฐมนตรีในขณะนี้ก็ไม่สามารถทำได้เพราะมีความขัดแย้งสูง พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เข้าข้างใคร อีกทั้งการทำงาน ของรัฐบาลทำอย่างเป็นระบบ โดยคณะทำงานตามกรอบการทำงาน ไม่ใช่หากเปลี่ยนรัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีจะบริหารงานตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายได้ และสำหรับกาทำงานของรัฐมนตรีให้ขณะนี้ตนเองจะเป็นผู้ประเมินหากทำงานไม่มีปรระสิทธิภาพแล้วค่อยปรับ แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
ส่วนเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่เห็นเรื่อง อีกทั้งเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเสนอรายชื่อที่เหมาะสมมาเพื่อให้พิจารณา
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเรื่องสัญญาณทางการเมืองในขณะนี้ ที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะนำไปสู่การปรองดอง โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ใช่ความคิดของใคร เป็นความคิดของประชาชนมากกว่า พร้อมยืนยันว่าส่วนตัวและรัฐบาลมีความชัดเจน ที่จะไปสู่การปรองดอง ซึ่งการจะไปสู่การปรองดองได้นั้นจะต้องมีกฎหมายเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ไม่ใช่การออกมาต่อต้านกระบวนการยุติธรรม พร้อมกล่าวว่าคดีความทุกคดีความนั้นถูกตัดสินโดยศาล ไม่ใช่ คสช. ส่วนการประเมินผลกระทบในช่วงที่กำลังจะมีคำพิพากษาคดีจำนำข้าวนี้ ขอให้ประชาชนได้เข้าใจในกระบวนการยุติธรรม ว่า หากใครมีความผิดก็ต้องถูกลงโทษ หากไม่ผิดก็ไม่ถูกลงโทษ การจะมาต่อต้านนอกศาลนั้นทำไม่ได้ ซึ่งฝ่ายศาลเองก็ดูอยู่ว่า มีการหมิ่นศาลหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความ เป็นห่วงต่อประชาชนที่มารวมตัวกันในวันที่ 25 ส.ค.ที่จะมีการอ่านคำพิพากษา ขอให้มีความระมัดระวังการละเมิดกฎหมายด้วย โดยยืนยัน รัฐบาลจะไม่มีการสะกัดประชาชน แต่อยากให้ประชาชนพิจารณามากกว่า ว่า มาแล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะการเดินทางมาน้อยหรือมาก ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินคดี โดยช่วงนี้ขอให้ช่วยกันลดความขัดแย้ง เพราะทุกคนก็ห่วงสถานการณ์บ้านเมือง หากมีการออกมาเคลื่อนไหว คนที่ได้รับความเดือดร้อนอันดับแรก ไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นประชาชน พร้อมเตือนประชาชนอย่าให้ใครชักจูง อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบที่มาด้วย หากพบว่ามาเองก็เข้าใจว่าเป็นความชอบส่วนตัว แต่หากมีการไปเกณฑ์คนมาร่วมชุมนุมก็ถือเป็นความผิด ต่อศาลซึ่งโทษรุนแรง
ส่วนกรณี ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ทยอยออกจากระบบประกันสังคม ด้วยเหตุผลขาดทุน ว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย และเป็นเรื่องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สป.สช. ที่จะต้องหาทางแก้ไข จากปัญหาของประกันสังคมขาดทุน โดยเบื้องต้นให้ประชาชนไปหาโรงพยาบาลใกล้เคียงที่มีระบบประกันสังคมรองรับไปก่อน เพราะทางรัฐบาลบังคับโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องผลประกอบการของโรงพยาบาลนั้นๆ