บก.จร. พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า โดยมีกองบัญชาการตำรวจนครบาล สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดังรายใหญ่ในพื้นที่กทม. เข้าร่วมลงนาม
พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา สบ.10 เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในกทม.มี 63 แห่ง จากการสำรวจพบปัญหาที่สำคัญ3ส่วน คือ
1)การบริหารจัดการที่จอดรถ เช่น ควรจัดให้มีที่จอดรถสำรองหากที่จอดรถหลักไม่เพียงพอ จัดให้มีระบบการจอดรถโดยจอดให้เต็มทีละชั้นก่อน รวมถีงปัญหาการกันที่จอดรถสำหรับบุคคลบางกลุ่มแต่กลับไม่มีรถมาจอด และปัญหาจากการที่ผู้บริหารและพนักงานนำรถมาจอดจำนวนมาก
2)การจัดการจราจรภายในอาคาร พบว่าหลายห้างฯยังไม่มีการจัดตั้งห้องศูนย์อำนวยการควบคุมจราจร บางห้างฯมีการจัดที่จอดรถไว้หน้าศูนย์การค้า ทำให้รถล้นออกไปที่ถนนสายหลัก และ
3)การจัดการจราจรภายนอก เช่น บางห้างฯ มีจุดรับบัตรจอดรถ หรือลานจอดรถ อยู่ใกล้ถนนเกินไป ทำให้รถต่อแถวล้นออกมาภายนอก
ขณะที่ น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ยืนยันทุกห้างฯต้องการให้เกิดการจัดการจราจรภายในห้างฯให้สอดคล้องกับถนนภายนอกห้างฯ เพราะจะทำให้การระบายจราจรทำได้อย่างเป็นระบบ เพราะปัจจุบันช่วงวันหยุดบางห้างฯมีรถผ่านเข้าออกมากถึง20,000-30,000คันต่อวัน และมีคนเข้าออกประมาณ120,000คนต่อห้างฯ
นายประวิทย์ สุขุม รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สำหรับศูนย์การค้าขายปลีก อาทิ บิ้กซี โลตัส และแม็คโคร มีผู้ใช้บริการประมาณ11,000,000คนต่อวัน ทั้งนี้การวางแผนสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างใหม่ มักอนุญาตให้เปิดเฉพาะถนนใหญ่รอบนอกกทม. เช่น พระราม2 และเพชรเกษม ส่วนศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการแล้วในเขตกทม. จากนี้จะมีการพูดคุยระหว่างสาขาสำคัญให้ประสานงานกับตำรวจอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญจราจรต่อไป
ทั้งนี้ จนท.รปภ. สัมภาษณ์ผ่านวีดีทัศน์สำรวจข้อมูล ยอมรับว่า ไม่สามารถบังคับหรือจัดระเบียบวินรถตู้โดยสารสาธารณะหน้าห้างฯได้ เพราะคนขับมักไม่ฟังและเสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาท หากมีการประสานให้ตำรวจเป็นผู้ดูแล น่าจะทำให้การจัดระเบียบทำได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบหน้าห้างฯเป็นเพียงจุดแรกของโครงการภาคประชาชนเท่านั้น โดยในวันที่ 14 ส.ค. จะเดินหน้าแก้ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียน และหน้าตลาดต่อไป
..ผสข.อภิสุข เวทย์วิศิษฐ์