การประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการประชุมคณะใหญ่ ครั้งที่ 2 ที่จะมีการรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการทั้ง 4 คณะคือ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญเพื่อติดตามความคืบหน้า จากที่ได้แบ่งและมอบหน้าที่กันไปแล้วจากการประชุมครั้งก่อน รวมถึงประเด็นต่างๆเพื่อให้เกิดการบูรณาการและทำร่วมกัน ซึ่งถือว่าในที่ประชุมครั้งนี้จะต้องมีข้อสรุปและนำไปปฏิบัติดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน ทั้ง4 คณะของป.ย.ป.
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในวันนี้จะมีการนำร่างสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์เข้าสู่ที่ประชุมคณะ โดยคาดว่าวันนี้จะได้ข้อสรุปในทุกเรื่อง ในส่วนร่าง พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ทางรัฐบาลได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ แล้วทั้ง 2 ฉบับ
ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ครบกำหนดส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ว่า ขอให้ไปสอบถามที่เลขาคณะรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มา แต่ตามหลักการแล้ว ร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวสามารถส่งมาพักไว้ให้คณะรัฐมนตรี 5 วันเพื่อให้พิจารณาซึ่งหากไม่มีข้อเห็นแย้งก็สามารถส่งขึ้นทูลเกล้า ฯ ได้เลยตามขั้นตอน
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยมายื่นขอให้รัฐบาลส่งศาลรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายดังกล่าว นายวิษณุ ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเนื่องรัฐบาลไม่มีข้อสงสัย อีกทั้งต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่ามีความสงสัยหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีจะสงสัยหรือไม่ และไม่ใช่ว่าใครจะส่งเรื่องอะไรมาแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องส่งไปทุกเรื่อง เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ไปรษณีย์ อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ให้เอาความสงสัยของบุคคลอื่นมาเป็นเหตุ แต่รัฐธรรมนูญให้เป็นความสงสัยของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ขณะเดียวกันยืนยันด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการกำหนดโทษรุนแรงหากมีการทุจริตการสรรหาผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบไพรมารี่โหวต หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบ ว่า ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งตามร่างเดิมที่ระบุไว้นั้นให้มีไพรมารี่โหวต แต่หากเกิดการทุจริต ก็จะกระทบต่อผลการเลือกตั้งของประเทศทันที แต่ทางกรรมาธิการร่วมไม่ต้องการให้เกิดแบบนั้นจึงเปลี่ยนให้ระบบไพรมารี่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองทำกันเอง โดยไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะถ้าหากเกิดการทุจริตก็จะไม่กระทบต่อการเลือกตั้งทั่วประเทศ