วธ.ยกย่อง บูรพศิลปิน ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เปิดทางคนรุ่นใหม่ศึกษางาน ยกย่องเชิดชูเกียรติ

21 กรกฎาคม 2560, 13:28น.


การเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงาน ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณบูรพศิลปิน ประจำปี 2560  หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกศิลปิน กล่าวว่า แม้ทั่วโลกจะยอมรับประเทศไทยว่ามีมรดกทางศิลปะวัฒนธรรมที่งดงามอยู่มาก แต่สำหรับคนไทยยังติดขัดในเรื่องการไม่รู้จักเจ้าของผลงานศิลปะที่มีอยู่รอบ จึงจัดโครงการบูรพศิลปิน เพื่อสืบค้นรายละเอียดเจ้าของผลงานศิลปะในประเทศไทย ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีเอกสารที่จดบันทึกไว้ จึงใช้วิธีทำบุญขึ้นในวันนี้ พร้อมประกาศเชิญชวนให้ทายาทของศิลปินในอดีต มาร่วมทำบุญให้กับบรรพบุรุษ เมื่อเหล่าทายาทมาร่วมพิธี ก็จะขอจดบันทึกข้อมูล พร้อมแสดงชิ้นงานที่ยังหลงเหลืออยู่ของบรรพบุรุษ ในปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 รู้สึกดีใจที่มีทายาทมาร่วมทำบุญให้กับบรรพบุรุษศิลปินจำนวนมาก ทั้งนี้ในไม่ช้าจะมีการจัดมุมบูรพศิลปินบริเวณห้องสมุดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ชิ้นงานของศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้วให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปศึกษา สำหรับการจัดงานยกย่องเชิดชูเกียรติคุณบูรพาศิลปินจะมีไปอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เพราะศิลปินในประเทศไทย มีกว่าแสนคน ส่วนหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินปีนี้ อาศัยนักวิชาการเป็นหลัก หากเป็นศิลปินแห่งชาติ มีชื่อเสียงจะง่ายสำหรับการค้นหาข้อมูล รวมถึงมีการค้นหาจากหนังสือเอกสาร หากพบข้อมูลผลงานของศิลปินก็จะได้รับการคัดเลือก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ทายาทของศิลปินส่งข้อมูลผลงานเข้ามา ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่ง





ด้านนายดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินด้านจิตรกรรมผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติบูรพศิลปิน ประจำปี 2560 สาขาทัศนศิลป์ กล่าวถึงความรู้สึกว่าดีใจและยินดีที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้เห็นความสำคัญของบูรพศิลปินที่ล่วงลับไปแล้ว โดยรู้สึกว่างานเช่นนี้เป็นงานที่ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของศิลปินที่เสียชีวิตที่มีหลายพันคน ทั้งนี้ในฐานะที่เป็นทายาทของอาจารย์ถวัลย์ บุคคลที่เป็นตัวอย่างให้กับศิลปินหลายคน ก็มีหน้าที่สืบสาน ส่งเสริม สืบต่อศิลปะด้วยความตั้งใจที่จะใช้เวลาทั้งหมดที่มีอยู่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่ อ.ถวัลย์ มอบให้โดยยังมีโครงการต่างๆ ที่ อ.ถวัลย์ทิ้งเอาไว้ รวมถึงพิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย ซึ่งจะทำให้ เป็นสถานที่ที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมให้เห็นคุณค่าทางศิลปะ ทั้งนี้สำหรับมุมมองด้านศิลปะในปัจจุบันของประเทศไทย นายดอยธิเบศร์ มองว่ามีความเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีการพัฒนาอย่างช้า อย่างไรก็ตามอยากชี้ให้เห็นว่าศิลปะไม่ได้เป็นแค่การวาดรูปอย่างเดียว แต่มีหลากหลายมิติ และในประเทศไทยก็เป็นประเทศแห่งศิลปวัฒนธรรม จึงอยากให้ช่วยกันส่งเสริมและเห็นคุณค่า ว่าศิลปะสามารถประยุกต์ใช้กับสังคมวัฒนธรรมได้ และการส่งเสริมให้กับลูกหลาน จะเป็นการขัดเกลา ฝึกสมาธิให้กับเด็ก ให้มีพื้นฐานในอนาคตที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอาชีพอื่น





สำหรับงานยกย่องเชิดชูเกียรติบูรพศิลปิน เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2558 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า บูรพศิลปิน โดยในปีนี้มีบูรพศิลปินผู้ได้รับการยกย่อง จำนวน 267 ราย แบ่งเป็น 3 สาขา คือสาขาศิลปะการแสดง 195 ราย สาขาทัศนศิลป์ 30 ราย และสาขาวรรณศิลป์ 42 ราย นอกจากนี้ภายในงานยังมีพิธีสงฆ์ ทำบุญถวายภัตาหารเพล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเหล่าศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้ว และในช่วงบ่ายจะมีการแสดงของทายาทศิลปิน เช่น การแสดงดนตรีไทย คณะดุริยประณีต การแสดงละครชาตรีเรื่องแก้วหน้าม้า โดยจัดการแสดงบริเวณหอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย



ข่าวทั้งหมด

X