อสส.ยันดำเนินทุกคดีอดีตเณรคำ ส่งฟ้องทันทีหลังดีเอสไอสอบเสร็จ

19 กรกฎาคม 2560, 11:58น.


การนำตัวนายวิรพล สุขผล หรือ อดีตเณรคำ อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จังหวัดศรีสะเกษ กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทั้งจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปรับตัวนายวิรพล ที่สหรัฐฯกลับมาดำเนินคดี หลังจากที่ดีเอสไอขอหมายจับ จากศาลอาญา 2 หมาย ใน 5 คดี คือ ข้อหาพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี,พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชน และ พระราชบัญญัติการฟอกเงิน ซึ่งอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไปสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง คือปลายปี 2558 และต้นปี 2559 จนกระทั่งนายวิรพล ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ได้เมื่อวันที่  22 กรกฎาคม 2559 และได้มีการต่อสู้คดีแต่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ทำให้เวลาของการยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาจึงต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ  และได้ออกเดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาแล้วตั้งแต่ เวลา 03 .00น.ตามเวลาในประเทศไทยและจะทำการเปลี่ยนเครื่องที่ญี่ปุ่นก่อนจะเดินทางถึงไทยในเวลาประมาณ22.00น.คืนนี้ ส่วนขั้นตอนของการสั่งฟ้อง เรือโทสมนึก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้สรุปสำนวนคดีให้กับอัยการแล้วทั้งหมด เหลือเพียงในส่วนของตัวผู้ต้องหาเท่านั้น ทั้งนี้ขอความร่วมมือการนำเสนอข่าวและภาพ เนื่องจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา กำชับให้ทางประเทศไทยปฏิบัติตามหลักสากลของสนธิสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและหลักความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา



ด้านนายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่ทราบถึงสาเหตุที่นายวิรพลไม่ยื่นขออุทธรณ์ เพราะเป็นเรื่องของผู้ต้องหา โดยหลังจากที่มีการส่งมอบตัวแล้ว จะเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ในการควบคุมตัว สอบปากคำ และบันทึกการจับกุมพร้อมทำประวัติอาชญากร ซึ่งอาจจะใช้เวลา 1-2 วัน ก่อนที่จะส่งตัวให้กับทางอัยการเพื่อ ขออำนาจศาลฝากขัง  พร้อมยืนยันจะสามารถดำเนินคดีกับเณรคำ ได้ทุกข้อหาตามที่ออกหมายจับ



อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ระหว่างที่มีการต่อสู้คดีที่สหรัฐอเมริกา นายวิรพล ได้ต่อสู้คดีในความผิดที่เกี่ยวกับทางเพศว่า คดีดังกล่าวได้ถอนแจ้งความไปแล้ว ซึ่งระหว่างที่พิจารณาคดีทนายของนายวิรพล ได้ประสานไปยังผู้เสียหายให้ไปฟ้องคดีกันเอง หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ และนายวิรพล ได้ชี้แจงว่ามีการดำเนินคดีไปแล้ว ดีเอสไอจึงได้ไปสอบถามกับผู้เสียหาย ทำให้ทราบว่ามีบุคคลหนึ่งมาประสานให้ยกฟ้องโดยมีการให้ค่าจ้างส่วนความผิดฐานฟอกเงินและฉ้อโกงนายวิรพลได้ต่อสู้คดีว่า เงินดังกล่าวได้มาจากการบริจาคและเป็นการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อัยการมองว่านายวิรพล กลับนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และนายวิรพล ยังต่อสู้คดีด้วยว่า การที่ประชาชนมาบริจาคเงินให้กับตัวเองเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่อัยการมองว่า ในประเทศไทยการที่นำเรื่องศาสนามาเป็นข้ออ้าง เพื่อให้ประชาชนบริจาคเงิน ถือเป็นการฉ้อโกง



ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ



 

ข่าวทั้งหมด

X