การลงนามข้อตกลงคุณธรรม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นทางที่ 5 ส่วนที่ 2 และโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง ที่มีมูลค่า 2 โครงการรวม 135,000 ล้านบาท โดยมีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน กล่าวว่า การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยการหาผู้สังเกตการณ์เป็นเรื่องยาก แต่การจัดทำข้อตกลงคุณธรรมนี้ เป็นที่ยอมรับของสากล ว่าโครงการขนาดใหญ่จะไม่มีการทุจริต ทั้งนี้ตนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมขึ้น และตั้งแต่ตนเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่ และพยายามทำให้โครงการของกระทรวงพลังงาน เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ มีการเบิกจ่ายเงินที่ถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงคุณธรรม เป็นการแสดงเจตนารมย์ว่าการดำเนินโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจะถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยมีคณะผู้สังเกตการณ์ 9 คน ทำหน้าที่ โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีผลประโยชน์ กับโครงการนั้นๆ ประกอบกับจะต้องมีอิสระในการทำหน้าที่ด้วย โดยจำนวนผู้สังเกตการณ์จะขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ มีจำนวน 3 คนขึ้นไป จะต้องสามารถตรวจสอบรายละเอียด ที่มาที่ไปของโครงการได้ ไม่มีลับลมคมใน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทร์ ประธานคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2560 ปตท. ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต ให้ร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม 2 โครงการดังกล่าว โดยโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 ส่วนที่ 2 เป็นการลงนามระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับผู้แสดงความประสงค์จะซื้อเอกสารประมูลราคาล่วงหน้า 8 ราย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ เพิ่มกำลังการส่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกไปยังโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก และเพิ่มความมั่นคงในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง, โรงไฟฟ้าวังน้อย, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ, และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 มูลค่างบประมาณลงทุน 96,500 ล้านบาท
สำหรับโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง เป็นการลงนามระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับผู้ร่วมเสนอราคา 6 ราย โดยโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 เป็นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี มีกำหนดแล้วเสร็จ ภายในปี 2665 งบประมาณลงทุน 38,500 ล้านบาท