กรณี ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีสาระสำคัญคือให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ซึ่งพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้นทางของกฎหมายมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จึงไม่สามารถตอบแทนได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คิดอยู่เสมอคือ การจะทำให้บ้านเมืองเดินไปได้ด้วยความมีประสิทธิภาพนั้น ต้องทำให้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง และมีวิธีการทำให้คนไม่ดีไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ปกครองบ้านเมืองได้ หลักการมีแค่นี้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรก็เป็นแนวคิดของคนเหล่านั้น
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า โดยหลักการระบบการดำเนินคดีอาญามี 2 ระบบ คือ ระบบกล่าวหา ใช้วิธีการต่อสู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลย ประเทศไทยในอดีตอาจมีความคุ้นเคยกับระบบนี้ จะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดไว้เลยว่าการฟ้องคดี การพิจารณาคดีจะต้องมีจำเลย ส่วนอีกระบบที่ใช้กันในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เรียกว่าระบบไต่สวน ซึ่งนำมาใช้ในกรณีของคดีอาญานักการเมือง ซึ่งมีการพูดถึงตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ปรับในส่วนการพิจารณาคดีแบบไม่มีตัวจำเลยดังนั้นเพื่อที่จะให้การพิจารณาคดีตามระบบไต่สวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีกระบวนการยุติธรรม จึงต้องนำวิธีการที่ประเทศในภาคพื้นยุโรปใช้กันคือการดำเนินคดีโดยที่ไม่ต้องมีตัวจำเลย เมื่อศาลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี จงใจไม่ยอมมาต่อสู้คดีในศาล
ส่วนจะมีความเป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ต้องดูที่หลัก 3 ประการคือ จำเลยทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ มีการคุ้มครองสิทธิ์ในการมีทนายเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาหรือไม่ และ การพิพากษาโดยที่จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมจะต้องได้รับสิทธิ์ในการที่จะขอให้มีการรื้อฟื้นเพื่อพิจารณาใหม่ ซึ่งมีการเขียนคุ้มครองไว้ในมาตรา 27 และ 28
กรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตรวจสอบความถูกต้องในการระบายข้าวของสต๊อกรัฐบาล และให้เปิดโกดังข้าวเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปร่วมตรวจพิสูจน์นั้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. เปิดเผยว่า นายยุทธพงษ์สามารถร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์ได้เสมอ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบ และพร้อมที่จะให้ข้อมูลอยู่แล้ว
ในวันนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่มีเนื้อหาให้เริ่มต้นกระบวนการคัดเลือก กกต.ทั้งหมด จากนั้นในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า เรื่องที่ กกต.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ แต่จะไม่เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญของ กกต.ชุดใหม่ ดังนั้น กกต.ชุดใหม่ควรเป็นฝ่ายคัดเลือกเอง
นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช. ส่งสัญญาณเพื่อจัดให้การเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ หลังผ่าน 2 งานพระราชพิธีสำคัญนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ คสช.จะแสดงให้ต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลนี้มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และควบคุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งเป็นการวัดผลงานความเชื่อมั่นของรัฐบาล คสช.ในระดับท้องถิ่นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้นก่อนที่ คสช.จะจัดให้มี การเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีความชัดเจน หากเป็นไปตามกฎหมายเดิมจะไม่มีการควบรวมท้องถิ่น นอกจากนี้หน่วยงานใดจะกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือหน่วยงานอื่น หากมีความชัดเจนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นภายใน 2561 อย่างแน่นอน
ระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม นี้ จะมีการร่วมรับฟังร่างสัญญาประชาคม ในพื้นที่กองทัพภาคทั้ง 4 ภาค ซึ่งพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวว่า เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจถึงเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม และพร้อมรับฟังความคิดเห็น จากนั้นจะนำความคิดเห็นเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้งเพื่อปรับความสมบูรณ์ ส่วนจะผนวกเข้าไปในร่างสัญญาประชาคมหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณา แต่คิดว่าตัวร่างสัญญาประชาคมน่าจะสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้น จะเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธาน ป.ย.ป. พิจารณาอีกครั้ง จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้พิจารณาวันที่เหมาะสมเพื่อนำร่างสัญญาประชาคมไปเผยแพร่และแถลงให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำเสนอผลการประเมินมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) หรือฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยว 21 ประเทศที่เดินทางเข้ามาไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง 1 มีนาคม-31 สิงหาคม 2560 เนื่องจากสถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มเข้าสู่สมดุล โดย 6 เดือนที่ผ่านมาไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1,370,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 876,000 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 500,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการเสนอมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า มีขึ้นในช่วงการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ และปัญหาการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งหลังจากที่มีการใช้มาใกล้ครบเวลา 6 เดือน ปรากฎว่ามีตัวเลขการท่องเที่ยวหลายตัวที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติแล้ว
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 21 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ได้แก่ อันดอร์รา บัลแกเรีย ภูฏาน จีน ไซปรัส เอธิโอเปีย อินเดีย คาซัคสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย มัลดีฟส์ มอลตา มอริเชียส โรมาเนีย ซานมารีโน ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน ยูเครน อุซเบกิสถาน ปาปัวนิวกินี และหมูเกาะฟิจิ
....