ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การปฏิรูปตำรวจไทย”สำรวจระหว่างวันที่ 13–14 ก.ค. 2560 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 หน่วยตัวอย่าง
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสังกัดหน่วยงานหรือรูปแบบสถานะที่เหมาะสมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่สุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 30.32 ระบุว่า ให้คงเดิม (ไม่สังกัดกระทรวงใด ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี)
รองลงมา ร้อยละ 24.48 ระบุว่า ย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ร้อยละ 18.72 ระบุว่า ย้ายกลับไปกระทรวงมหาดไทย
ร้อยละ 9.92 ระบุว่า ให้ไปสังกัดขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด (ส่วนภูมิภาค)
ร้อยละ 6.40 ระบุ ให้จัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ร้อยละ 0.56 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ควรย้ายไปสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือส่วนใดก็ได้ แต่ต้องให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และต้องอยู่ในองค์กรที่สามารถตรวจสอบได้ และร้อยละ 9.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแยกอำนาจการสอบสวนของตำรวจออกมาให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ พบว่า ร้อยละ 50.48 ไม่เห็นด้วย ควรให้อำนาจในการสอบสวนไว้กับตำรวจเช่นเดิม เพราะ ถือเป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง ซึ่งตำรวจมีความรู้ มีประสบการณ์ มีความชำนาญในงานสอบสวน และทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งตำรวจมีความใกล้ชิดกับประชาชนอยู่แล้ว การสะสางคดีต่าง ๆ จะได้มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกัน หากให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ อาจเป็นการก้าวก่ายในหน้าที่ และเกิดความซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นควรให้อำนาจการสอบสวนไว้ที่ตำรวจเช่นเดิม
ร้อยละ 44.24 ระบุว่า เห็นด้วยกับการแยกอำนาจในการสอบสวนของตำรวจออกมา เพราะการปราบปราม การจับกุม และงานสอบสวนควรแยกออกจากกัน ในปัจจุบันงานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจมากเกินไป เป็นการช่วยลดภาระงานและของตำรวจให้น้อยลง ควรมีการแบ่งงาน กระจายหรือถ่วงดุลอำนาจ เป็นการป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ หรือการแทรกแซงของอำนาจมืด เป็นการสร้างความยุติธรรม เกิดความโปร่งใส ซึ่งหน่วยงานอื่นควรเข้ามามีส่วนร่วมในงานสอบสวนด้วย ทำให้การสอบสวนมีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกในการคัดเลือกบุคลากรเข้ามารับราชการตำรวจในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 31.20 ระบุว่า การจบจากสถาบันที่ผลิตบุคลากรตำรวจโดยตรง เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ร้อยละ 30.72 ระบุว่า คุณธรรม จริยธรรม
ร้อยละ 19.76 ระบุว่า คะแนนสอบ รวมไปถึงทักษะและความสามารถ
ร้อยละ 6.96 ระบุว่า ประสบการณ์ในการทำงาน
ร้อยละ 4.56 ระบุว่า การจบจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
ร้อยละ 3.28 ระบุว่า ประวัติส่วนบุคคล
ร้อยละ 0.72 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ต้องรักในอาชีพตำรวจ มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และความชำนาญเฉพาะด้าน และควรจบหรือมีความรู้ทางด้านกฎหมาย
และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำมาตรา44 มาช่วยในการปฏิรูปตำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.76 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยให้การปฏิรูปตำรวจ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีระบบ มีระเบียบ และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะได้ไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ลดการทุจริตและปัญหาคอร์รัปชันได้ โดยเฉพาะการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของตำรวจบางคน ซึ่งการแก้ไขหรือดำเนินการบางอย่างต่างมีข้อจำกัด ดังนั้นการใช้ ม.44 น่าจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปตำรวจ
ร้อยละ 27.84 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจเกินขอบเขตและใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อจนเกินไป ดูเป็นการกดดัน บังคับ กึ่งเผด็จการกับตำรวจมากเกินไป ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน ซึ่งโครงสร้างและระบบบริหารงานของตำรวจมีกฎหมาย ข้อระเบียบบังคับ ไว้ควบคุมการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปตำรวจ
และร้อยละ 10.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
....