การแถลงข่าวรวบแก๊ง Romance Scam แชทรักลวงโลกชาวแอฟริกัน หลอกเงินผู้เสียหายผ่านทางเฟซบุ๊คกว่า 20 ราย มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท และพัวพันค้ายาเสพติดข้ามชาติ พลตำรวจเอกเฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พลตำรวจโทณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกันแถลงว่า หลังจากที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดัง และคนอื่นๆ ถูกกลุ่มชาวต่างชาติหลอกเอาเงินไปเป็นจำนวนมาก จึงจัดชุดสืบสวนติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี และพบว่ากลุ่มคนร้ายชาวแอฟริกัน มีแหล่งที่พักอาศัยที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านนนทบุรี จนกระทั่งจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย ประกอบด้วยนายแอนโทนี่ ชิชา (Anthony Chicha) อายุ 27 ปี สัญชาติแซมเบีย ซึ่งมีหมายจับคดียาเสพติดที่ สน. ทุ่งมหาเมฆ ปี 2559, นายโมฮัมเม็ด แมนซาร่า (Mohammed Mansara) อายุ 33 ปี สัญชาติเซียร์ราลีโอ, นายวิกเตอร์ ยูโซโฮนาดูบุยสิ (Victor UzohoNdubuisi) อายุ 32 ปี สัญชาติไนจีเรีย, นายเดวิด ยูโซโฮเรจินาล (David Uzoho Reginald) อายุ 26 ปี สัญชาติไนจีเรีย
จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหา มีการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊คหลายบัญชี โดยปรากฏภาพโปรไฟล์เป็นบุคคลอื่นทั้งสิ้น ภาพที่ใช้จะเป็นชาวต่างชาติผิวขาว หน้าตาดี มีฐานะมั่นคง เช่น เป็นนายทหารระดับนายพล นายแพทย์ และนักบิน ซึ่งมีพฤติการณ์ตรงกับกลุ่มผู้เสียหายได้ ให้ข้อมูลเอาไว้ และพบว่ายังมีการแชทคุยกับคนไทยที่กำลังหลอกลวงอยู่หลายคนด้วย
คดีแรก ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชัยภูมิ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ระบุว่า เมื่อหลายเดือนก่อน มีนายทหารหญิงสังกัดกองทัพสหรัฐอเมริกา เข้ามาทักทายในเฟซบุ๊ค และได้ติดต่อพูดคุยกันมาตลอด ตนเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ และมีเพื่อนชาวต่างชาติ จึงได้ติดต่อกันเรื่อยมา โดยไม่เคยพบตัวจริงหรือสนทนาทางโทรศัพท์ เมื่อติดต่อกันได้ระยะหนึ่งคนร้ายอ้างว่าทำงานในพื้นที่สงครามในตะวันออกกลาง มีเงินที่รัฐบาลสหรัฐฯส่งมาให้กองทัพอเมริกันในพื้นที่เป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกฝ่ายตรงข้ามปล้นเงินไป แต่ต่อมากลุ่มทหารอเมริกันได้ยึดคืนมาได้แต่ไม่ได้รายงานรัฐบาลและนำมาแบ่งกัน คนร้ายอ้างว่าได้รับส่วนแบ่งมาจำนวนหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาเด็กไทย โดยจะส่งเงินใส่กระเป๋าผ่านบริษัทขนส่งข้ามประเทศแล้วให้ผู้เสียหายรอรับ
หลังจากนั้นได้มีคนไทยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่ง แจ้งว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้ส่งมาถึงแล้ว แต่ผู้รับปลายทางจะต้องชำระค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่ง ผู้เสียหายได้หลงเชื่อโอนเงินไปหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับเงินที่ระบุว่าจะบริจาค จนกระทั่งรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อจึงขอความช่วยเหลือมาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
นอกจากนี้ ยังมีอีกคดี ผู้เสียหายหญิงไทย (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ระบุว่า เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2560 มีชายชาวอเมริกัน หน้าตาดี ติดต่อมาทางเฟซบุ๊ค อ้างว่าเป็นนายทหารยศนายพล ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ภรรยาเสียแล้ว อยากตั้งครอบครัวใหม่ในประเทศไทย พร้อมอ้างว่ามีเงิน และของมีค่าที่ยึดได้จากสงครามมูลค่ากว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งมาให้เก็บรักษาไว้ เมื่อหมดภารกิจแล้วจะเดินทางมาแต่งงานกับผู้เสียหายที่ประเทศไทย โดยบอกว่าจะมีนักการทูตนำกระเป๋าใบนี้ที่ใส่เงินไปส่งให้ จากนั้นมีคนไทยในขบวนการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทูต, เจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่ง ติดต่อมาให้ชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งตัวเองหลงเชื่อยอมโอนเงินไปให้ประมาณ 8 แสนบาท ผู้เสียหายไม่เฉลียวใจว่าจะถูกหลอก ยอมรับว่ามองโลกในแง่ดี จึงโอนเงินไปให้
พลตำรวจโทณัฐธร ระบุว่า อยากฝากเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ใช้โซเซียล ว่าอย่าหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ที่เข้ามาพูดคุย โดยไม่เห็นหน้าและไม่รู้จักกันมาก่อน เพราะอาจถูกหลอกลวงได้ โดยคนร้ายกลุ่มนี้สร้างโปรไฟล์น่าเชื่อถือ มีการแอบอ้างบุคคลที่สามารถตรวจสอบได้ จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด พร้อมขยายผลคนไทยที่อยู่ร่วมขบวนการ
ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข