การติดตามแก้ไขปัญหายาเพสติด นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2560 โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยผลการดำเนินงานภายหลังการตรวจติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ของคณะอนุกรรมการกำกับติดตามฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 - วันที่ 30 มิถุนายน 2560 สรุปได้ดังนี้ ด้านการปราบปรามยาเสพติด จับกุมคดียาเสพติด 185,939 คดี ผู้ต้องหา 204,627 คน จำแนกเป็นข้อหาเสพ 63,898 คดี ผู้ต้องหา 65,642 คน ข้อหาครอบครอง 65,277 คดี ผู้ต้องหา 70,820 คน และข้อหาสำคัญ 57,254 คดี ผู้ต้องหา 67,674 คน ยึดยาบ้าได้ 127,111,862 เม็ด กัญชา 8,296 กิโลกรัม ไอซ์ 3,530 กิโลกรัม และเฮโรอีน 344 กิโลกรัม การดำเนินการตามข้อร้องเรียนปัญหายาเสพติด ผ่านช่องทางต่างๆ ของสำนักงาน ป.ป.ส. เช่น สายด่วน 1386 จดหมาย เว็บไซต์และเข้ามาร้องเรียนด้วยตนเอง รวม 8,031 เรื่อง ซึ่งการดำเนินคดีฐานความผิดสมคบและสนับสนุนช่วยเหลือ 973 คดี ผู้ต้องหา 2,480 คน ยึดและอายัดทรัพย์สิน 1,394 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สิน 1,173.12 ล้านบาท โดยจากการลงพื้นที่ติดตามของคณะอนุกรรมการฯ ยังพบปัญหาการลักลอบจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยาอันตราย จึงเห็นควรมีการกระตุ้นมาตรการในการควบคุม กำกับ และตรวจสอบคุมเข้มการจำหน่ายยาของร้านขายยา นอกจากนี้ยังพบการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด การมั่วสุมในพื้นที่เสี่ยงและสถานบันเทิงจำนวนมาก จึงควรเพิ่มความเข้มงวดมาตรการจัดระเบียบสังคมในสถานบันเทิง แหล่งมั่วสุม เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิด
ด้านการป้องกันยาเสพติด ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มีการเผยแพร่สื่อเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสมองสำหรับเด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาล 21,979 แห่ง ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา รวม 3,098,442 คน ส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด 8,224 แห่ง จากการลงพื้นที่ พบว่าสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นกลไกหลักในการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดยังอ่อนแอ จึงควรส่งเสริม สนับสนุน ให้สถาบันครอบครัวมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติดมากขึ้น
ส่วนการบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด จำนวน 104,770 ราย แบ่งเป็น ระบบสมัครใจ 67,028 ราย ระบบบังคับ 24,400 ราย และระบบต้องโทษ 13,342 ราย มีการติดตามผู้ผ่านการบำบัด จำนวน 87,795 ราย และมีผู้ผ่านการบำบัดฯ ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ จำนวน 4,521 ราย จากการลงพื้นที่ พบว่าผู้เสพ/ผู้ติด ไม่ยอมรับว่าตนเป็นผู้ป่วย จึงปฏิเสธการบำบัดรักษา เห็นควรเพิ่มช่องทางการสร้างการรับรู้แนวคิด "ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย" ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา และเร่งรัดนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
สำหรับการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ควรมีการเร่งรัด ติดตาม การดำเนินงานในระดับพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยนำระบบการรายงาน NISPA ที่มีมาใช้