ความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบและระงับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลกระทบและอาจทำลายความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ได้มีรายงานตรวจสอบผลการระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาลในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค.- 9 ก.ค. 60 พบว่า เว็บไซต์ที่ถูกปิดตามคำสั่งศาลมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยเพจในเฟซบุ๊กที่มีคำสั่งศาล 1,471 ยูอาร์แอล มีการดำเนินการปิด 156 ยูอาร์แอล ,เพจในยูทูปทีมีคำสั่งศาล 622 ยูอาร์แอล มีการปิดไป 9 ยูอาร์แอล เท่านั้น
เมื่อตรวจสอบจากสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย (ไอเอสพี) แล้วพบว่า คำสั่งศาลจำนวนดังกล่าว สมาคมฯไม่ได้เป็นผู้ส่ง แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินการส่งคำสั่งศาล ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูปโดยตรง จึงทำให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ไม่ได้รับคำสั่งศาล ไม่เหมือนกับที่กสทช.ประสานให้สมาคมฯ ส่งให้ในกรณีที่ผ่านมาซึ่งสามารถปิดลงได้เกือบทั้งหมด
สำนักงานกสทช. จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งหากกระทรวงดีอี และปอท. ส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูปแล้วให้ส่งสำเนาคำสั่งศาลมายัง กสทช.เพื่อส่งต่อให้สมาคมฯ ประสานกับเฟซบุ๊กและยูทูปอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งกสทช.ได้ขอให้กระทรวงดีอีและปอท.ส่งคำสั่งศาลที่มีล่าสุดมาที่สำนักงานฯ ภายในวันที่ 17 ก.ค.60 จากนั้น กสทช.จะเชิญจะสมาคมฯ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี) มาร่วมประชุมและรับคำสั่งศาลที่ กสทช.ในวันที่ 18 ก.ค.60 ทั้งนี้เชื่อว่าด้วยการดำเนินการประสานทั้ง 2 ทางจะช่วยให้การระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมมีประสิทธิภาพมากขึ้น