สนช.เห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกฎหมาย

13 กรกฎาคม 2560, 16:20น.


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 176 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 179 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ หลังจากนี้จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่



สำหรับร่างกฎหมายลูกดังกล่าวตราขึ้นเพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้ โดยในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลให้อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ขณะในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล แต่มีหลักฐานชัดว่ามีการออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล



ส่วนกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย แต่หากไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความต่อสู้คดีแทนได้ และในกรณีเมื่อคดีตัดสินไปแล้วแต่จำเลยกลับมา หากจำเลยจะขอรื้อฟื้นคดีใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องยื่นเรื่องภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด



CR:www.radioparliament.net



แฟ้มภาพ 

ข่าวทั้งหมด

X