สนช.เห็นชอบกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.ส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ

13 กรกฎาคม 2560, 14:31น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.ทำหน้าที่เป็นประธาน ลงมติด้วยคะแนน 194 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หรือกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง 6ประเด็นของกกต.เสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยถือเป็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สนช.ให้ความเห็นชอบและเสร็จสิ้นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด



นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย รายงานผลการพิจารณากรณีที่กกต.โต้แย้งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว 6 ประเด็นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้แก่ 1.มาตรา11 วรรคสาม การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสรรหาเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ 2.มาตรา12 วรรคหนึ่ง การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ 3.มาตรา26 หน้าที่และอำนาจของกกต.แต่ละคน 4.มาตรา 27 อำนาจการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 5.มาตรา42 การบัญญัติให้กกต.มอบอำนาจการสอบสวนได้ 6.มาตรา70 วรรคหนึ่ง การให้ประธานกกต.และกกต. ที่ดำรงตำแหน่งในวันก่อนที่พ.ร.บ.คณะกรรมการเลือกตั้งใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่งกมธ.ร่วม 3ฝ่ายประกอบด้วยสนช. 5 คน กรธ. 5 คน และประธานกกต. พิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมากในแต่ละประเด็นว่า ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกประการ จึงไม่มีการแก้ไขร่างที่สนช.ให้ความเห็นชอบ



นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายโต้แย้ง 6 ประเด็นที่ได้สงวนความเห็นต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า แต่ละประเด็นมีความขัดแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับจากวันที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ถือว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรคสอง และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล รวมทั้งเป็นการออกกฎหมายแบบเลือกปฏิบัติเพราะองค์กรอิสระอื่น อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้กมธ.ได้แก้ไขเนื้อหาที่เป็นหลักการสาระสำคัญของกรธ. โดยมิได้รับฟังเหตุผลให้รอบด้านจากผู้เกี่ยวข้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา จึงขอให้พิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ.กกต.อีกสักครั้ง 



ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. และกรรมาธิการร่วม 3ฝ่ายเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า สิ่งที่กมธ.ร่วมลงมติไป ไม่ได้ยึดตัวบุคคล แต่ยึดเจตนารมณ์และหลักการเป็นตัวตั้ง การลงมติปราศจากอคติในการใช้ดุลยพินิจ เป็นไปตามหลักการและเหตุผล บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุให้องค์กรอิสระต้องคงอยู่ต่อไป แต่ให้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและองค์ประกอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด



แฟ้มภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X