ช่วงบ่ายวันนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้พาดิฉันเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี หากพูดถึงจังหวัดนี้ จะต้องนึกถึงโอ่งราชบุรี และที่โรงงานเถ้าฮงไถ่ เป็นอีกสถานที่หนึ่ง นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปโอ่งที่วางเรียงกันสวยงามอย่างมีศิลปะ
นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่3 ของการก่อตั้งโรงงานกล่าวถึงความเป็นมาว่า เดิมสมัยปี2476 คนไทยนิยมใช้โอ่งกักเก็บน้ำ โดยนำเข้ามาจากประเทศจีน ขณะเดียวกันนายซ่งฮง แซ่เตีย อากงของตนที่อพยพมาอยู่ประเทศไทย เห็นว่า โอ่งมีความต้องการ และจำเป็นอย่างมากต่อคนไทย ทำให้การนำเข้าโอ่งจากประเทศจีนขาดตลาด ต่อมานายซ่งฮงเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดราชบุรี และเก็บตัวอย่างดินไปทดลองเผา เมื่อเห็นว่าสามารถเผาและปั้นได้ จึงชวนเพื่อนๆมาตั้งโรงงานผลิตไหน้ำปลา กระถางต้นไม้ โอ่งน้ำไม่มีลาย จนเป็นโรงงานแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี ต่อมาได้แยกกิจการกัน โดยนายซ่งฮง และเพื่อนอีกคนหนึ่ง ร่วมกันก่อตั้งโรงงานที่เริ่มผลิตโอ่งลายมังกรแห่งแรก โดยสั่งดินขาวจากประเทศจีนไว้สำหรับติดลายมังกร
จนปี2497 ทั้ง 2 คนได้แยกกิจการกัน นายซ่งฮง ได้ก่อตั้งโรงงาน เถ้าฮงไถ่ ขึ้นมา และปั้นโอ่งเป็นรูปต่างๆรวมถึงยังคงปั้นรูปมังกรอยู่ ปัจจุบันโรงงานนี้มีการผลิตตามแบบลูกค้าสั่ง และเพิ่มกราฟฟิกลงไปในตัวโอ่งมากขึ้น เช่น โอ่งลายมังกร จากเดิมเป็นเพียงการวาดลวดลายเท่านั้น แต่ปัจจุบันปั้นออกมาในรูปแบบ3มิติ ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าจะจำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศ เช่น ผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ นายวศินบุรี ยอมรับว่า ยอดขายลดลง เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ และที่สำคัญโรงงานผลิตโอ่งในประเทศไทย ไม่พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง มักจะทำตามหรือเลียนแบบโรงงานที่ได้รับความนิยม เช่น การทำสี การออกแบบ ทำให้เกิดการแข่งขัน แย่งลูกค้ากันขึ้น อีกทั้งยังยอมรับว่า ที่แห่งนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้มากกว่าแหล่งท่องเที่ยว โดยผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมจะเข้าใจวิธีการผลิตโอ่ง และศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น หากใครสนใจสามารถเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ด้านนายสมชาย ชื่นชอบ ช่างปั้น กล่าวถึงดินสำหรับปั้นโอ่งว่า ปัจจุบันที่โรงงานเถ้าฮงไถ่ใช้ดินจากจังหวัดลำปาง เพราะ เมื่อเผาดินรอบแรกจะเป็นสีขาว สามารถลงสีได้ แต่ดินของจังหวัดราชบุรีเป็นดินแดงไม่สามารถลงสีได้ ส่วนวิธีการปั้นโอ่ง จะมี3วิธี คือ วิธีดั้งเดิม หรือยิ ที่ปั้นด้วยมือเท่านั้น, วิธีปั้นโดยใช้เครื่องหมุน ซึ่งมีข้อเสียอย่างหนึ่งไม่สามารถปั้นโอ่งขนาดใหญ่ได้ ,วิธีปั้นปูนพลาสติก ออกเป็นรูปร่าง โดยส่วนใหญ่ที่นี่จะใช้วิธีดั้งเดิม เมื่อปั้นดินเป็นรูปเสร็จแล้ว จะนำไปผึ่งลม10-15วันให้แห้ง และเข้าเตาเผา จากนั้นนำออกมาลงสีหรือลงลาย และเข้าเตาเผาอีกรอบ เป็นอันว่าเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าที่ซื้อโอ่งไปกักเก็บน้ำนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะซื้อไปประดับตกแต่ง ขณะเดียวกันมองว่า การใช้โอ่งเพื่อกักเก็บน้ำยังเป็นวิธีที่ดีเพราะน้ำประปาจากก๊อกจะมีคลอรีนปะปนมาก แต่การใช้น้ำจากโอ่งจะไม่มีสารใดๆปะปน ถือว่าเป็นผลดีกับผู้สูงอายุเลยทีเดียว
ผสข. ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ