พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทยที่ติดอันดับโลก โดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15-19 ปี ซึ่งมีแนวโน้มดื่มสุรามากขึ้นถึงร้อยละ 4.96 ต่อปี ส่วนการที่อัตราเฉลี่ยระบุว่าคนไทยใช้เวลาเพียง 4.5 นาที ในการเดินทางไปร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงให้เห็นว่าสามารถซื้อหาสุราได้ง่าย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยดื่มเหล้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด เห็นได้จากสถิติอุบัติเหตุในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว นอกจากนี้ ผลจากการดื่มสุรายังทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม
ทั้งนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2554-2563) โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง เช่น การกำหนดสถานที่ห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติม ทั้งสถานีขนส่ง ท่าเรือโดยสาร สถานีรถไฟ หรือรอบสถานศึกษา การกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เยาวชน เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมและลดการบริโภค ลดนักดื่มหน้าใหม่ จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังขอให้ใช้โอกาสเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน ลด ละ เลิกการดื่มสุรา ซึ่งถือเป็นมหากุศลจากการปฏิบัติบูชา โดยจากการรณรงค์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาถึงร้อยละ 81.2 สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ร้อยละ 80.5 มีสุขภาพร่างกายดีขึ้นร้อยละ 50.2 มีสุขภาพจิตใจดีขึ้น และร้อยละ 31.1 มีความสุขและลดปัญหาในครอบครัวได้
ส่วนกรณีกฎหมายแรงงาน ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บทลงโทษใน 4 มาตราของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กฎหมายมีเจตนาที่จะมีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานโดยถูกต้อง และเพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกประชาคมโลกตำหนิ
อย่างไรก็ตาม นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การที่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อดำเนินการตรวจสัญชาติ และกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในช่วง 180 วัน ที่ชะลอบทลงโทษนายจ้างและคนต่างด้าวตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้นายจ้างสถานประกอบการต่างๆ ขาดแคลนแรงงาน และต้องนำเข้าแรงงานใหม่โดยใช้บริการของนายหน้าจัดหา ซึ่งอาจเป็นช่องให้มีการเรียกเก็บเงิน นายกรัฐมนตรี จึงกำชับให้กระทรวง ทำความเข้าใจเรื่องการนำเข้าแรงงานว่าจะต้องเป็นบริษัทนายหน้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานให้ถูกต้อง
ส่วนนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากเกินไปจนเหมือนการเสพติดแรงงานต่างด้าว โดยมีการจ้างถึงร้อยละ 10 ในขณะที่ประเทศอื่นจะใช้แรงงานต่างด้าวประมาณร้อยละ 3-4 เท่านั้น ทั้งเห็นว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี และเห็นด้วยกับการใช้กฎหมายที่เข้มงวดแต่ก็เห็นว่าควรเร่งออกกฎหมายประกอบให้ครบถ้วน
ที่กระทรวงคมนาคมบ่ายวันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนสมาชิกคณะมนตรี ICAO จากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
โดยในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ยื่นต่อองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในการเสนอขอปลดธงแดง โดยได้ดำเนินการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ในส่วนการดำเนินการต่อไป คือหลังจากที่ ICAO เข้ามาตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์แล้ว ในอีก 1 เดือนถัดไป จะทราบผลว่าประเทศไทยจะสามารถปลดธงแดงในเรื่องการบินพลเรือนได้หรือไม่
…