สมาชิกสหประชาชาติจำนวน 122 ประเทศลงมติยอมรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ โดยมี 1 ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ(นาโต) ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ที่คัดค้าน ขณะที่สิงคโปร์งดออกเสียง ส่วนประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ และอิสราเอล ไม่เข้าร่วมการเจรจาหรือลงมติสนธิสัญญาฉบับนี้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมองว่า สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวไม่ใส่ใจความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงโลก เช่น โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ สนธิสัญญาฉบับดังกล่าว ซึ่งสั่งห้ามพัฒนา สะสม หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ข่มขู่ ยังมิได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาภัยคุกคามร้ายแรงจากเกาหลีเหนือ และปัญหาท้าทายความมั่นคงอื่นๆ ขณะที่ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นการป้องปรามการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสยังคงยึดมั่นวิธีทยอยปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามที่ร่างไว้ในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT
ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ต้องทนทุกข์จากการถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู คว่ำบาตรการเจรจาสนธิสัญญาฉบับนี้ เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกนาโตส่วนใหญ่ ด้านประเทศที่มิใช่รัฐนิวเคลียร์ นำโดยออสเตรีย บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์ แสดงความวิตกกังวลว่า อาวุธทำลายล้าง เช่น นิวเคลียร์จะตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม โดยหวังว่า การเข้าร่วมร่างสนธิสัญญาจะช่วยเพิ่มแรงกดดันประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ให้ทยอยปลดอาวุธดังกล่าวอย่างจริงจัง
ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เห็นว่า สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวสะท้อนความตระหนักถึงหายนะแห่งมนุษยชาติจากสงครามนิวเคลียร์ ทั้งนี้ สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวจะเปิดให้ประเทศสมาชิกลงนามนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. เป็นต้นไป และจะมีผลบังคับใช้ หลังมีประเทศให้สัตยาบัน 50 ประเทศ
ทีมต่างประเทศ
CR:AFP