นายกฯยันไม่แทรกแซงปฎิรูปตำรวจ ให้สูตรการทำงาน 2-3-4 ตั้งเลขาและโฆษกคณะกรรมการ

07 กรกฎาคม 2560, 17:38น.


การมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางความสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ โครงสร้างองค์กรที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจะสังกัดและการกระจายอำนาจที่ไม่ควรกระจุกอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เดียว และเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อำนาจการสอบสวนที่ควรจะคงไว้อย่างเดิมหรือแยกออกจากกัน รวมถึงการทำงานให้เชื่อมโยงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานอัยการ



นายกรัฐมนตรียังให้แนวทางการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย การคัดเลือกบุคคล รวมถึงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย พร้อมเสนอแนะสัดส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายว่าจะยังคงใช้ระบบอาวุโสทั้งหมดหรือผสมกับระบบคุณงามความดี โดยในเรื่องนี้จะต้องให้เสร็จสิ้นภายในปี 2560 นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ให้สูตร 2 3 4 ในการทำงานของคณะกรรมการ คือ 2 เดือนแรก นำงานวิจัยเก่าๆมาศึกษา พูดคุยถึงปัญหา  3 เดือนถัดไป เป็นขั้นตอนการกำหนดกฎหมายหลังจากนั้น 4 เดือน เป็นการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะครบตามกรอบระยะเวลา 9 เดือน ทั้งนี้ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี  ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงาน และฝาก ความหวังไว้กับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยให้นำเอาเรื่องสำคัญมาแก้ไขก่อนและหากเห็นสมควรว่า จำเป็นต้องใช้มาตรา 44  ในการแก้ไขนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะนำมาพิจารณา





ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ และ แต่งตั้งให้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นโฆษกของคณะกรรมการชุดนี้



นอกจากนี้ นายวิษณุ ชี้แจงกรณีกระแสการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มีสัดส่วนตำรวจจำนวนมากว่าสัดส่วนของคณะกรรมการถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ตำรวจมีจำนวนเท่ากับพลเรือน และประธานต้องไม่ใช่ตำรวจ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการทาบทามพลเรือนที่มีความเข้าใจเรื่องความมั่นคงให้มาดำรงตำแหน่ง แต่บุคคลเหล่านั้นติดคัดเรื่องกรอบเวลา จึงเสนอขอเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการแทน ดังนั้นจึงได้เชิญพลเอกบุญสร้าง ที่เป็นอดีตทหารและมีความเข้าใจในระบบโครงสร้างมาทำหน้าที่ประธาน โดยขออย่าวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้ทหารมาปฏิรูปตำรวจ ทำให้เกิดความร้าวฉาน นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกบุคคลที่เป็นนักวิชาการและมีความเข้าใจในเรื่องรัฐประ ศาสนศาสตร์มาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการด้วย



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X