การเพิ่มขึ้นของคดีข่มขืนในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง "ความรุนแรงซ้ำซ้อน ข่าวข่มขืนกับสิ่งที่สังคมมองข้าม" รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิต การข่มขืนสะท้อนความเชื่อผิดๆว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง สังคม ควรจะเพิ่มแนวคิดที่ว่าผู้ชายไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอย่างนั้น ด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเรื่องไม่ให้ใช้ความรุนแรง ในกฏหมายถ้าผู้ถูกข่มขืนมีอายุ15ปีขึ้นไป อายุความของคดีจะอยู่เพียงแค่ 3 เดือน ถ้าหากคดีนั้นไม่ใช่คดีที่ใช้อาวุธ และคดีข่มขืนกฎหมายไทยให้ยอมความได้ มองว่า ต้องแก้ไขอย่าให้คดีมีการยอมความกัน ขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากไม่กล้าแจ้งความ เนื่องจากอาย และสังคมไม่ยอมรับผู้ถูกข่มขืน
นางสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พูดถึงการคุ้มครองทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้เสียหาย ว่า อยากให้ปรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการซักถามผู้ที่ถูกข่มขืน ไม่ให้มีคำถามที่สะเทือนใจเหมือนเป็นการซ้ำเติม ทำให้ผู้ที่ถูกข่มขืนไม่กล้าแจ้งความ
ด้านนางนัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ เสนอแนะให้ผู้ที่ออกกฏหมายและอยู่ในกระบวนการสอบสวน เข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ที่ถูกข่มขืนมากขึ้น เพราะเกือบทั้งหมดของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ชาย ทำให้ไม่เข้าใจจิตใจของผู้ที่ถูกข่มขืนซึ่งเป็นผู้หญิง และแทนที่จะสอบสวนผู้ที่ถูกข่มขืน เปลี่ยนเป็นนำตัวผู้ต้องหามาสอบสวนจะดีกว่า
สานนท์