การลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์จากน้ำในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ของเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางพรพิศ ทองก้อน เล่าว่า ปกติชาวบ้านในบริเวณนี้ จะปลูกข้าวปีละ 2 รอบ คือนาปีและนาปรัง โดยอาศัยน้ำจากกรมชลประทานที่ส่งมาให้ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ซึ่งใช้มาตั้งแต่จำความได้ โดยสมัยก่อนที่เห็น น้ำจะถูกปล่อยมาสูญเปล่า ไม่มีใครนำไปใช้ประโยชน์ จึงได้หาวิธีใช้น้ำให้เป็นประโยชน์ นำมาช่วยด้านการเกษตร เพื่อต่อยอดผลผลิตที่ผลิตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งน้ำถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการทำนาของเกษตรกร เพราะหากไม่มีน้ำที่ทางกรมชลประทานส่งมา ก็จะไม่สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง อาจต้องรอน้ำฝนที่ตกลงมาเพียงอย่างเดียว เกษตรกรที่ใช้น้ำจากโครงการ จะมีวิธีจัดสรรน้ำ โดยตกลงร่วมกัน แบ่งน้ำให้เกษตรกรปลายน้ำก่อน แล้วไล่การปล่อยน้ำขึ้นมาที่ต้นน้ำ น้ำจะไม่มีการไหลทิ้ง เพราะมีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างดี

นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ ยังนิยมทำนาแปลงใหญ่ โดยนางพรพิศ กล่าวว่า ประโยชน์ของการทำนาแปลงใหญ่ คือง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำ ถ้าทำนาเป็นแปลงเล็ก บางกลุ่มทำ บางกลุ่มไม่ทำ ก็เป็นการปล่อยน้ำแบบไร้ประโยชน์ ปัจจุบันนางพรพิศ ปลูกข้าวทั้งสิ้น 6 สายพันธุ์ เป็นข้าวอินทรีย์ไม่มีสารเคมี โดยรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านกว่า 279 คน ช่วยกันตั้งแต่กระบวนการปลูก จนถึงจำหน่าย โดยกล่าวว่า การทำนาแบบเคมี ต้นทุนสูง ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย จึงได้รวมตัวกับเพื่อนบ้านพูดคุยกัน ใช้วิธีแบบดั้งเดิม ที่ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ น้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ย สามารถลดต้นทุนลงได้ อีกทั้งสุขภาพของเกษตรกรก็ไม่เป็นอันตรายด้วย เพราะไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับสารเคมี ด้านผู้บริโภคปัจจุบันที่รักสุขภาพก็จะไม่ตอบรับข้าวแบบใช้สารเคมี นิยมซื้อแบบออแกนิก มากกว่า ซึ่งวิธีการกำจัดวัชพืชหญ้าจะเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ให้กินหญ้า ส่วนมูลของวัวและควาย ก็เอามาใส่นาเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ยังกำจัดลูกหอยเชอร์รี่ ด้วยการเลี้ยงเป็ดให้กินลูกหอย ส่วนตัวใหญ่จะเก็บมาทำปุ๋ยหมัก

นางพรพิศ กล่าวว่า ก่อนจะส่งเสริมเกษตรกรรายอื่น มาร่วมปลูกข้าวร่วมกันนั้น จะต้องทำด้วยตัวเองให้คนอื่นเห็นว่าประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องชักชวน ทำตัวเองให้เข้มแข็งและจะต้องหาตลาดก่อนที่จะส่งเสริมการปลูกเพื่อที่จะไม่เป็นปัญหาด้านการตลาด
ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม