กรมชลฯ สรุป 8 แนวทางเพิ่มน้ำต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จ.สกลนคร

05 กรกฎาคม 2560, 14:09น.


การลงพื้นที่ร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มายังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร เพื่อติดตามการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน นายอาคม ไชยมงคล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำเและบำรุงรักษาน้ำอูน เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของการศึกษา โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน เพื่อนำเสนอรูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการ แนวทางป้องกันและแก้ไขลดผลกระทบมานำเสนอ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะเรื่องของแนวคิด การปรับปรุงโครงการ จากด้านวิศวกรรมและด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการดำเนินงานระหว่างกลุ่มเป้าหมาย กับคณะที่ปรึกษาโครงการ สาเหตุที่จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เนื่องจาก โครงการนี้มีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 50 ปี ถือว่ามากพอสมควร อีกทั้งในปัจจุบันพบปัญหาการดำเนินโครงการที่มีประสิทธิภาพลดลง การบริหารจัดการน้ำไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน





จากการสอบถามปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ ก็พบปัญหาหลายด้าน เช่น น้ำไม่เข้าแปลงนาเนื่องจากระดับน้ำในคลองต่ำสถานีสูบน้ำมีปัญหาน้ำท่วมจากฝนตก น้ำไหลล้นตลิ่งในลำน้ำอูน โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้มีการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำครั้งนี้ เพื่อให้ดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอยุธยาที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต





สำหรับแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงโครงการ ได้มีการสรุปออกมา 8 แนวทาง เช่น การปรับเปลี่ยน แนวทางการปลูกพืช ที่อาจเปลี่ยนมาปลูกพืชเกษตรอุตสาหกรรมแทนพืชที่ได้ผลผลิตไม่ดี แนวทางการเพิ่มน้ำต้นทุนของโครงการ โดยการผันน้ำจากห้วยปลาหางลงสู่อ่างเก็บน้ำอูน แนวทางการพัฒนา น้ำใต้ดินเสริมน้ำชลประทานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในเขตผิวน้ำของอ่างเก็บน้ำน้ำอูน และการปรับปรุงคลองส่งน้ำในพื้นที่ตอนล่างจากระบบสูบน้ำให้เป็นแรงโน้มถ่วง  ภายหลังการหาแนวทางร่วมกันในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว จะสรุปรายงานขั้นตอนการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติ นำผลการศึกษาแนวทาง สรุปเป็นประเด็น พร้อมดำเนินการต่อ เช่น การออกแบบ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ยืนยันว่า ในเรื่องของการสร้างการมีส่วนร่วมของการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะได้มีการจัดประชุมย่อยครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตำบลและอำเภอ ที่ได้รับผลกระทบถึง 2 ครั้งและผู้เข้าร่วมประชุมมีกว่าร้อยละ 80 ซึ่งได้รับประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะและความร่วมมือเป็นอย่างดี ยืนยันว่าเกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินโครงการครั้งนี้  อย่างไรก็ตาม หากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพนี้เสร็จสมบูรณ์ จะทำให้เกิดความมั่นคง ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูนจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจากปัจจุบันที่ส่งน้ำได้ประมาณร้อยละ 50 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60





ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม 

ข่าวทั้งหมด

X